มธ. เปิดวงถก 50 ปี สถาบันไทยคดีศึกษา‘มองโลกในไทย มองไทยในโลก’

มธ. เปิดวงถก 50 ปี สถาบันไทยคดีศึกษา‘มองโลกในไทย มองไทยในโลก’





ad1

เวทีเสวนาวิชาการฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้ง “สถาบันไทยคดีศึกษา ธรรมศาสตร์” ระบุ  วัฒนธรรมเป็น “ซอฟต์ พาวเวอร์” เชื่อมไทยสู่โลก-โลกสู่ไทย ด้าน “ศ.ดร.สุรพล” ห่วง มหาวิทยาลัยไม่ตอบสนองคนรุ่นใหม่     เชื่ออีกไม่นานล้มหายตายจากอีกหลายสถาบัน ถ้าไม่ปรับตัว

ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “มองโลกในไทย มองไทยในโลก” เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 โดยมีคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากเข้าร่วมและบรรยายพิเศษ อาทิ ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.เกศินี วิทูตชาติ อธิการบดี มธ. ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ นายเผ่าทอง ทองเจือ กรรมการบริหารสถาบันไทยคดีศึกษา รศ.ดร. ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ นายบุญชู ตรีทอง อดีต รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย 

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ 

ศ.พิเศษ นรนิติ กล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์  เวลาศึกษาเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศหรือโลกจะต้องย้อนดูภายในด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราศึกษาการเมืองไทยในอดีต กลับไม่ค่อยสนใจการเมืองต่างประเทศ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีผลกระทบต่อกันมาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ฉะนั้นในบางเวลา การเมืองต่างประเทศก็กำหนดการเมืองไทย 

“เราจะศึกษาเรื่องการเมืองไทยแค่ว่าคนไทยเป็นอย่างไร ผู้นำเป็นอย่างไร กลไกในประเทศไทยเป็นอย่างไร หรือรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร แค่นี้ไม่ได้ เพราะบางมันมีผลกระทบมาจากอิทธิพลข้างนอก เราได้รับอิทธิพลจากประเทศอื่นๆ เข้ามาทางวัฒนธรรม บ้านเราเปลี่ยนแปลงมาจนทุกวันนี้ เพราะ Globalization หรือ โลกาภิวิฒน์” ศ.พิเศษ นรนิติ กล่าว

ผศ.ดร.อนุชา กล่าวว่า ปัจจุบันยอมรับแล้วว่าวัฒนธรรมถือเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ย้อนกลับไป 3 ปีที่แล้ว เมื่อปลายปี 2561 สถาบันไทยคดีมีบทบาทในการผลักดันให้โขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เป็นรายการแรกของประเทศไทยหลังจากที่เราได้ให้สัตยาบัน กับอนุสัญญาเรื่องการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

 
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเข้าไปอยู่ในทุกเวทีโลก เราเข้าไปสู่โลก โลกก็เข้ามาสู่เรา เกี่ยวข้องกันในด้านวัฒนธรรมในฐานะที่วัฒนธรรมนั้นเป็น ซอฟต์ พาวเวอร์ ที่โลกกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ 

ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปมาก โดยปัจจัยแรกคืออัตราประชากรในประเทศไทยที่คนเกิดใหม่ลดลง มีคนที่อยู่ในเจนเนอเรชั่นที่แตกต่างกันเยอะมาก เด็กเข้าโรงเรียนลดลง คนที่เข้ามหาวิทยาลัยเหลือแค่ 4-5 แสนคน ขณะที่ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก

ปัจจัยถัดมาคือเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป โครงสร้างความสำคัญระหว่างบุคคล ชีวิตครอบครัว ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็เปลี่ยนไป ปัจจัยที่สามคือโควิด-19 ที่ทำให้เราไม่รู้ว่าจะกลับไปมีปฏิสัมพันธ์ปกติได้เมื่อไหร่ และเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อคนเหล่านี้เรียนจบไปแล้วจะต้องใช้ทักษะส่วนตัว ซึ่งจะเป็นอย่างเดียวกับคนรุ่นก่อนหน้าโควิดหรือไม่ 

ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่เกิดเฉพาะในสังคมไทยเหมือนกัน ก็คือการนิยามสิ่งที่เป็นคุณค่าใหม่ในทางการเมือง การปกครอง และสังคม โดยคนรุ่นใหม่ปฏิเสธสิ่งที่อธิบายไม่ได้ ปฏิเสธความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล ปฏิเสธค่านิยมซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือหรือศรัทธา และเขาสามารถทำให้การปฏิเสธของเขาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เป็นที่เข้าถึงโดยผู้คนเป็นแสนล้านคนได้ภายใน 1 วันด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ความท้าทายเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและเป็นเหตุที่ทำให้สังคมไทยในช่วงเวลาต่อไปนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก 

“ประเด็นสุดท้าย ระบบการศึกษาของเราจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หลังจากนี้การเรียนการสอนปกติยังจะเป็นเช่นนั้นอยู่หรือเปล่า วันนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำ ยังดูเหมือนว่าจะมีนักศึกษาตามจำนวนที่ประสงค์จะเข้ารับ แต่อีก 2-3 ปีจะยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่ สถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากอาจต้องล้มหายตายจากไป เพราะเหตุผลของการไม่มีคนอยากเรียนมหาวิทยาลัย และไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยที่เขาไม่ได้เลือก และเขาก็ไม่ได้ให้คุณค่าของการเรียนจบมหาวิทยาลัยมากไปกว่าทักษะในการที่จะออกไปสู่สังคมภายนอก ทำมาหากิน ดูแลตัวเองได้ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” ศ.ดร.สุรพล กล่าว