“ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ” จุดเช็คอินของคนชอบของถูกและดี สินค้าจากวิถีชุมชนคนบ้านแพรก

“ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ” จุดเช็คอินของคนชอบของถูกและดี สินค้าจากวิถีชุมชนคนบ้านแพรก





ad1

ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ  ได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2545  โดยมีผู้ชายที่ชื่อ  ร.ต.โสภณ สาสกุล เป็นผู้ปลุกปั้นตัดสายสะดือสร้างตลาดนี้ขึ้นมากับมือด้วยคอนเซปต์ “ค่าแผงถูก ไม่หวังกำไร ให้ชาวบ้านมีที่ทำมาหากิน” กว่า 20 ปีที่ตลาดแห่งนี้ได้สร้างรายได้ให้เหล่าพ่อค้าแม่ขาย สร้างความสุขและรอยยิ้มให้ลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอย แค่นี้คุณโสภณก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

โสภณ สาสกุล กว่าจะได้มาปลุกปั้นตลาดที่สร้างความสุขให้แก่ชุมชนขึ้นมาได้ไม่ใช่เรื่องง่ายและบังเอิญ เพราะกว่าคุณโสภณจะมีวันนี้ได้เขาผ่านคำว่า “สู้” มานับครั้งไม่ถ้วนเพราะคุณโสภณนั้นไม่ใช่คุณหนูลูกคนรวย เป็นลูกชาวบ้านธรรมดาแต่มีความฝัน …ฝันอยากขึ้นเครื่องบิน ซึ่งในตอนนั้นเขาคิดว่าถ้าจะได้ขึ้นเครื่องบินต้องไปเป็นทหารอากาศสิ! เขาจึงไม่รอช้า จึงไปไขว้คว้าสอบเป็นทหารอากาศได้อย่างหวัง แต่ความคิดที่ว่าเป็นทหารอากาศแล้วจะได้ขึ้นเครื่องบิน นั้นเป็นความคิดที่ผิดเพราะทหารอากาศที่จะได้ขึ้นเครื่องบินคือต้องเป็นนักบิน

แม้จะผิดหวังแต่เส้นทางในอาชีพทหารอากาศก็ยังทอดยาวต่อไปข้างหน้าในตำแหน่งเสมียนสารบรรณ หลังจากนั้นก็จับพัดจับพูได้ย้ายไปอยู่ แผนกเผยแพร่ความรู้ กองการสโมสร กรมสวัสดิการทหารอากาศ ที่ สโมสรทหารอากาศชั้นสัญญาบัตร ดอนเมือง ซึ่งตำแหน่งตรงนี้ทำให้เขาได้ขึ้นเครื่องบินสมใจหวังแล้ว หลังจากนั้นเขาก็ได้ขึ้นเครื่องบิน บินไปค่อนโลกในนาม ไลออน โสภณ สาสกุล ในเวลาต่อมาในระหว่างที่รับราชการทหารอยู่นั้นเขาได้มีโอกาสเข้าสู่วงการตลาดนัดเป็นครั้งแรก ซึ่งเขาเล่าย้อนความหลังถึงตลาดแรกนั้นก็คือ ตลาดคึกคัก  ด้วยยิ้มว่า

“ระหว่างรับราชการทหารก็ทำตลาดนัดด้วยก็คือตลาดคึกคัก ตรง ก.ม. 25 ถนนพหลโยธิน ดอนเมือง ปัจจุบันก็คือ ตลาดประตูกรุงเทพ ฯ สาเหตุที่เลิกก็เพราะใจดีเกินไป ไปรับลิเกมาคณะหนึ่ง และบ้านผีสิง เขาขอมาลงวิก อยู่ในพื้นที่ เพราะหาที่ลงไม่ได้ก็เลยรับไว้ ตรงบริเวณบ้านผีสิง พอตอนเย็นบ้านสิงก็จะเปิดเพลงหมาหอน เพื่อเรียกลูกค้า ผมก็ไปบอกบ้านผีสิงว่าไม่เปิดเพลงหมาหอนได้ไหม เพราะเปิดที่ไรเด็กก็กลัว คนก็ไม่กล้ามาเดินตลาด ทางบ้านผีสิงก็บอกว่าถ้าไม่เปิดเพลงหมาหอนเขาก็ไม่มีลูกค้า จนมีคนพูดเข้าหูว่า ตลาดนี้คือตลาดหมาหอน เพราะเป็นตลาดร้างไม่มีคนเดิน ซึ่งตอนนั้นเราได้ฟังก็ซ้ำใจนะ” เขาเล่าถึงตลาดแรกที่ชื่อว่าตลาดคึกคัก แต่ลงท้ายกลายเป็นตลาดหมาหอน ก็เลยปิดตำนานตลาดคึกคักไปในที่สุด

หลังจากตลาดคึกคักปิดตัวลงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่หลงเหลือจากพายุเข้าที่ตลาดคึกคักไม่ว่าจะเป็นเต็นท์ อุปกรณ์สายไฟต่าง ๆ  เขาได้นำมาปลุกฟื้นคืนชีพอีกครั้งที่ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ ณ บริเวณข้างวัดเขียนลาย หมู่ 4       ต บ้านแพรก อ บ้านแพรก จ พระนครศรีอยุธยา ที่แห่งนี้นี่เองตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ  เริ่มจากการปิดตัวของตลาดคึกคักที่ กรุงเทพฯ ก็ได้ขนอุปกรณ์ต่างๆ มาปลุกฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ตรงบริเวณบ้านแพรก ซึ่งเป็นที่ดินของภรรยาของเขาก็คือ ครูจันทร์เพ็ญ ซึ่งคุณโสภณ บอกว่าที่ตลาดแห่งนี้เขามีหน้าที่เป็นพนักงานโยธาสร้างอย่างเดียว ส่วนภรรยามีหน้าที่เก็บเงิน

“ที่ตลาดแห่งนี้ เราเน้นเก็บค่าแผงถูก สิบบาท ยี่สิบบาท ถ้าร้านยาวหน่อยก็เก็บแค่สี่สิบบาท ซึ่งจะหาที่ไหนไม่มีแล้วที่จะเก็บค่าแผงถูกขนาดนี้ คือเราต้องการให้แม่ค้าอยู่ได้ ซึ่งก็คือชาวบ้านแถวนี้ เขาแค่มีกระถินริมรั้วก็เก็บมาขายได้ ซึ่งชาวบ้านมีสินค้าน้อย ๆ  พวกผักพื้นบ้านต่าง ๆ ที่นำมาขาย เราก็จะไม่เก็บค่าแผง ให้เขาได้มาอาศัยขายได้ ความคิดของเราคือถ้าเขาเก็บกระถินมาขายได้สามสิบสี่สิบบาท ถ้าเราเก็บค่าแผงเขาก็ไม่เหลือ แต่เขาขายผักได้ เขาก็ไปซื้อ เนื้อ หมู ปลา  เปลี่ยนจากผักกลายเป็นหมู เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน เหมือนเราได้สร้างพื้นที่ให้เขาได้มาแลกเปลี่ยนสินค้ากันและกัน”

นี่คือแนวคิดของตลาดแห่งนี้ จึงไม่แปลกใจที่ตลาดแห่งนี้จะคึกคัก และเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขจากพ่อค้าแม่ขายและลูกค้าที่มาเดินจับจ่ายใช้สอย

คุณโสภณ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตลาดแห่งนี้จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก ส่วนผลประโยชน์ที่เห็นคือ กล้วยสองพันกว่าต้นรอบ ๆ ตลาด เราจะไม่ขายเลย คือนำไปแจกอย่างเดียว แจกตามโรงพยาลบาล ตามห้องเจาะเลือด เพราะคนที่จะไปเจาะเลือดต้องอดอาหารหลังสองทุ่ม ทุกคนจะหิวหมดทุกคน หลังเจาะเลือดเสร็จก็กินกล้วย เราก็เลยนำเอากล้วยไปแจกที่ รพ. ภูมิพลอดุลยเดช ดอนเมือง เป็นหลักเราเน้นแจกไม่เน้นขายเพราะนี้คือความสบายใจของเรา แล้วก็จะปลูกต้นไม้ไปเรื่อย ๆ “

ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญเปิดขายทุก วันจันทร์ และวันศุกร์ ตั้งแต่ เวลา 15.00 น.-19.00 น. หากใครต้องการนำสินค้าไปขายที่ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ สามารถติดต่อได้ที่ นางจันทร์เพ็ญ สาสกุล ครูบำนาญ โทร. 081 - 807 0801