มทร.ล้านนาน่าน ร่วมกับ ซีพีน่านลุยปลูกฝังเยาวชนไทยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

มทร.ล้านนาน่าน ร่วมกับ ซีพีน่านลุยปลูกฝังเยาวชนไทยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน





ad1

มทร.ล้านนาน่าน ร่วมกับ ซีพีน่าน จัดกิจกรรมกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) หัวข้อการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาด (Green Energy) มุ่งปลูกฝังแนวคิดเยาวชนไทย ควบคู่กับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน ร่วมกับ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดกิจกรรมกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในหัวข้อการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาด (Green Energy) และจัดทำโมเดลนวัตกรรม โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 86 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในรายวิชากระบวนการคิดเชิงออกแบบและการแก้ปัญหา (Process of Thinking and Problem Solving) มีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการคิดเชิงสร้างสรรค์ สามารถออกแบบโมเดลสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นแนวคิดต้นแบบ ต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน และสถานศึกษา ใน จ.น่าน โดยจัดขึ้นในระหว่างเดือนส.ค.-ต.ค.65 ที่ผ่านมานี้

โดยได้สนับสนุนทุนในการพัฒนาโมเดลนวัตกรรมของนักศึกษา ทั้งสิ้น จำนวน 12 โมเดล มูลค่า 12,000 บ.ซึ่งมี 4 โมเดลที่ได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศมูลค่า 5,000 บาท คือ โมเดลตู้อบผ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนางสาวณิศวรา ดวงสอน นางสาวฐานิยา สมบูรณ์ นางสาววพรหมพร วิริยะ นายศุภเวช ชุติพฤกธิ์ และ นายยศกร วงศ์คำ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มูลค่า 3,000 บาท คือ โมเดลถังหมักชีวมวล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มูลค่า 2,000 บาท คือ โมเดลพลังงานจากการเคลื่อนไหวของมนุษย์ (Rechary Geable Shoes) และรางวัลชมเชย มูลค่า 1,000 บาท คือ โมเดล Smart Farmer

โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วิโรจน์ มงคลเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีน่าน ปฏิบัติราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มอบรางวัลและประกาศนียบัตรในครั้งนี้

ทั้งนี้ สำนักงานด้านความยั่งยืนฯ จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังคงขับเคลื่อนเป็นศูนย์รวมของความร่วมมือระหว่างประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคการศึกษา เพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ ตอบโจทย์ความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดระบบการบริหารงานภายในชุมชน และมิติอื่นๆ อย่างครอบคลุมและยั่งยืน