“ไม่มีคำว่าสายสำหรับการกลับตัวเป็นคนดี”ของอานนท์ แสนน่าน

“ไม่มีคำว่าสายสำหรับการกลับตัวเป็นคนดี”ของอานนท์ แสนน่าน





ad1

“ไม่มีคำว่าสายสำหรับการกลับตัวเป็นคนดี”ของอานนท์ แสนน่าน ประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน

ได้ยินคำนี้แล้วนึกถึงอดีตมหาโจรคนหนึ่ง ผู้คนนับร้อยจบชีวิตลงด้วยคมดาบของเขา ใครที่ไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังอาจพานเข้าใจว่า ความโหดเหี้ยมอำมหิตนั้นเกิดจากจิตที่ชั่วร้ายเลวทรามมาแต่กำเนิด
ทั้งที่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่…

"องคุลิมาล”ถือกำเนิดในคืนเดือนมืด โหรทุกทิศต่างทำนายว่าเด็กที่ลืมตาดูโลกในค่ำคืนเช่นนี้ย่อมมีอนาคตไม่สดใสนัก บิดามารดาของเขาจึงระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ และตั้งชื่อทารกน้อยว่า“อหิงสกะ”แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร

เจ้าหนูอหิงสกะเติบโตเหมือนชาวเมืองคนอื่นๆเมื่อเจริญวัยเขาร่ำเรียนศิลปวิทยาการจนเจนจัด จากนั้นก็มุ่งหน้าไปยังสำนักทิศาปาโมกข์เพื่อร่ำเรียนวิชาการต่อสู้ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งความนิยมในสมัยนั้น อหิงสกะตั้งใจฝึกฝนวิชาจนกลายเป็นศิษย์รักของอาจารย์

เมื่อมีคนรักย่อมมีคนชัง ความดีเด่นของอหิงสกะกลับสร้างศัตรูให้เขาโดยไม่รู้ตัว ศิษย์ร่วมสำนักคิดกำจัดเขา ลงมือใส่ร้ายโดยบอกเจ้าสำนักว่าอหิงสกะคิดจะโค่นบัลลังก์ครู อาจารย์ผู้หูเบาจึงวางแผนดึงอหิงสกะลงสู่หุบเหวแห่งความชั่วร้าย เขาหลอกให้อดีตศิษย์รักออกเดินทางสังหารคนให้ครบพันชีวิต เพื่อจะได้บรรลุพิธีวิษณุมนตร์(มนตร์สรรเสริญพระนารายณ์) ซึ่งเป็นวิชาขั้นสูงที่จะทำให้อหิงสกะนำชื่อเสียงกลับบ้านเกิดได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะแบกความหวังของบิดามารดามาหนักอึ้ง อหิงสกะจึงจำยอมให้มือตนเองเปื้อนเลือดในที่สุด

ชายหนุ่มเลือกจะตัดนิ้วมือของทุกคนที่เขาฆ่า เพื่อให้ตนเองจดจำได้ว่า เขาเข่นฆ่าคนไปแล้วกี่คนนิ้วมือทุกนิ้วถูกอหิงสกะร้อยรวมกันเป็นพวงแล้วสวมคล้องคอตนเองไว้ การสวมพวงมาลัยที่ทำด้วยนิ้วมือคนเช่นนี้จึงเป็นที่มาของฉายา “องคุลิมาล” มหาโจรที่คนทั้งบางได้ยินชื่อแล้วต้องกลัวลนลาน

"องคุลีมาล“กรรมชั่วขจัดได้ด้วยการกระทำกรรมดี” จึงเป็นที่มาของ "องคุลีมาล มหาโจรกลับใจ" เพราะวันสุดท้ายของการใช้ชีวิตเป็นมหาโจรองคุลิมาลมีนิ้วมือห้อยอยู่บนคอทั้งสิ้นเก้าร้อยเก้าสิบเก้านิ้ว จิตใจที่มืดมิดเพราะความหลงทำให้ดวงตาขององคุลิมาลมืดบอดไปด้วย เมื่อเขาพบสตรีร่างบางเดินผ่านมา เขาจึงมุ่งมาดจะลงดาบสังหาร โดยหารู้ไม่ว่าสตรีนางนั้นคือ "มารดาผู้ให้กำเนิดตนเอง" เดชะบุญที่ "พระพุทธเจ้า" ทรงนั่งสมาธิหยั่งรู้ว่าองคุลิมาลกำลังจะกระทำมาตุฆาตซึ่งเป็นบาปมหันต์ พระพุทธองค์จึงปรากฏพระองค์ขึ้นเพื่อให้จอมโจรหันเหความสนใจมาเอาชีวิตของพระองค์แทน แต่ไม่ว่าองคุลิมาลจะเร่งฝีเท้าตามพระองค์สักเท่าใด ก็ไม่สามารถตามพระพุทธเจ้าที่เพียงทรงพระดำเนินด้วยอิริยาบถธรรมดาได้ทัน

 ในวินาทีที่จอมโจรร้องเรียกให้ พระพุทธเจ้าหยุดฝีเท้านั้นเอง พุทธพจน์ “เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด” จึงถือกำเนิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า "พระองค์ทรงหยุดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งปวงแล้ว แต่องคุลิมาลยังไม่หยุดทำกรรมเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น" เมื่อได้ยินดังนี้ ดวงจิตของมหาโจรก็สว่างพ้นจากกิเลสลุ่มหลงทั้งปวง องคุลิมาลจึงพร้อมยอมทิ้งอาวุธ และบวชเป็นพระภิกษุมุ่งหน้าเดินบนหนทางธรรม เพื่อนำชีวิตสู่แสงสว่างทันที

หากผลกรรมที่เคยทำเมื่อครั้งยังเป็นโจรทำให้องคุลิมาลต้องเผชิญเคราะห์กรรมนานัปการ ทั้งถูกชาวบ้านชาวเมืองรุมประณามทำร้ายขณะออกบิณฑบาตจนเลือดตกยางออก มิหนำซ้ำภาพที่ตนเคยทำร้ายทำลายชีวิต ยังตามหลอกหลอนให้จิตฟุ้งซ่านในยามปฏิบัติธรรม ทำให้องคุลิมาลต้องทนทรมานอย่างมาก ต่อเมื่อคิดตัดใจได้ว่าไม่มีวันย้อนเวลากลับไปแก้ไขความ ผิดพลาดในอดีตได้ ดวงจิตขององคุลิมาลจึงพ้นจากความพะวงทั้งปวงและบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

แม้จะเคยผิดพลาดจนแทบถอนตัวไม่ขึ้นแต่เรื่องราวของขุนโจรผู้หลงผิด แต่เปลี่ยนชีวิตด้วยพระธรรมจนพ้นจากบ่วงกรรม คนนี้สามารถยืนยันประโยคที่ว่า 

“ไม่มีคำว่าสายสำหรับการกลับตัวเป็นคนดี”ให้คนทั้งโลกเข้าใจอย่างไร้ข้อกังขาใดๆ นะอานนท์"

เสนาะ วรรักษ์/รายงาน