รมช.สธ.ปลุกแนวคิดเชื่อมรัฐ-เอกชน เพิ่มศักยภาพวิจัยสุขภาพไทย

รมช.สธ.ปลุกแนวคิดเชื่อมรัฐ-เอกชน เพิ่มศักยภาพวิจัยสุขภาพไทย





ad1

รมช.สธ. ปลุกแนวคิดเชื่อมรัฐ-เอกชน เพิ่มศักยภาพการวิจัยระบบสุขภาพไทย เพื่อคุณภาพชีวิต-พร้อมยกระดับเศรษฐกิจ  ในประชุมบอร์ดสวรส. สัญจร ลงลุยพื้นที่ EEC 

การประชุมครั้งสำคัญของคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในรูปแบบสัญจร ณ จังหวัดระยอง เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  ถือเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2564 ที่มีนัยสำคัญของการกำหนดทิศทางเดินหน้าการวิจัยของ สวรส. เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพไทย ในปี 2565  โดยการประชุมดังกล่าว มีดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสวรส.  พร้อมด้วย นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสวรส.  นำทีมคณะกรรมการและผู้บริหาร สวรส. ร่วมการประชุม 

การประชุมสัญจรครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการศึกษาดูงานโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อประยุกต์ใช้แนวคิดนำไปสู่การพัฒนาระบบการวิจัย ตลอดจนการแสวงหาโอกาสความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพต่อไปในอนาคต  ซึ่งเป็นการศึกษาดูงานในองค์กรภาคเอกชนระดับไฮเอ็นด์ (High end) ของประเทศ  อาทิเช่น  บริษัท ไออาร์พีซี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และวังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi  ในส่วนของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTECH) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS)  ที่ๆเป็นแหล่งบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นนักวิจัยสำคัญทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรม ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมาแล้วอย่างมากมาย 

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยสาธารณสุข (สวรส.) ในครั้งนี้ ในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาสำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ หรือเป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่วนหนึ่งนับเป็นการสร้างโอกาสการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน  ซึ่งไม่เพียงแต่การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเท่านั้น  แต่อาจพัฒนาเชื่อมโยงไปถึงมิติของสิ่งแวดล้อมของคนในพื้นที่ที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ไปพร้อมกับการมีรายได้ จากการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่ 

“เนื่องจากพื้นที่ระยองถูกพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ที่จะส่งผลต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของพื้นที่และประเทศโดยรวม แต่ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้วย  ทั้งนี้ งานวิจัยระบบสุขภาพ ของสวรส. จะเข้ามาสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนควบคู่ไปกับมิติอื่นๆ  ซึ่งบริบทของพื้นที่ EEC ไม่ได้มุ่งแค่เรื่องอุตสาหกรรมอย่างเดียว หากแต่ยังต้องดูแลสิ่งแวดล้อม  การพัฒนาภาคการเกษตร  ภาคการท่องเที่ยว  รวมไปถึงการเกิดขึ้นของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่จะต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้วย 

นอกจากนี้่ อยากให้มีการเชื่อมโยงการทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม บนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน    โดยมีสวรส. เป็นแกนกลางประสานการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทรัพยากรและศักยภาพระหว่างกัน  ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสังคมอย่างมาก” ดร.สาธิต กล่าวย้ำ 

 
ในการศึกษาดูงานดังกล่าว ได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมนำเสนอแนวคิดและผลงานวิจัยสำคัญ  อาทิเช่น  ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดและกระบวนการสำคัญของการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่  พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ  อาทิเช่น แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลการวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน ที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน โดยจุดเด่นของแบตเตอรี่ชนิดนี้ สามารถเก็บพลังงานได้มากขึ้น น้ำหนักเบา และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ที่สำคัญยังได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งหากผลิตแบตเตอรี่ที่มีราคาถูก จะส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกตามไปด้วย  

นับเป็นผลงานวิจัยชั้นแนวหน้าที่สุดชิ้นหนึ่งในปัจจุบัน  พร้อมด้วยนายสุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้อำนวยการโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ร่วมบรรยายถึงเป้าหมายและการดำเนินงานของพื้นที่วังจันทร์ วัลเลย์  รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยเครื่องมือแพทย์ จาก ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และปิดท้ายด้วย ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. เสนอเรื่อง “Thailand (National) Genome Data Center โครงการ 50K GeTH และการพัฒนาระบบการติดตามผู้ป่วยโรคหายาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” ในการศึกษาดูงานในครั้งนี้ 

นอกจากนั้น  ในการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีการนำเสนอแผนงานโครงการสำคัญของสวรส.ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา  อาทิ  โครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศเพื่อการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลจีโนม  ภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย  โดยมีสาระสำคัญ ให้โครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศเพื่อการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมดังกล่าว ต้องมีการออกแบบและจัดหาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หน่วยจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญอ้างอิงความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรไทย เพื่อใช้ในการต่อยอดงานวิจัยและบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพต่อไปได้ 

พร้อมกันนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลพันธุกรรมในประชากรไทย โดยการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลอยู่บนฐานของความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบได้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งมีการศึกษาในด้านนโยบายการแบ่งปันและเข้าถึงข้อมูล ร่างนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล และนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาจากการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ภายใต้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยไปใช้ประโยชน์ต่อไป