พบ “นักเรียนยากจน” ได้เรียนต่อ ม.ปลาย แค่ 53% ต้องออกจากการศึกษาแล้วกว่า 1 ล้านคน 

พบนร.ยากจน ออกจากการศึกษาแล้วกว่าล้านคนนั

พบ “นักเรียนยากจน” ได้เรียนต่อ ม.ปลาย แค่ 53% ต้องออกจากการศึกษาแล้วกว่า 1 ล้านคน 





ad1

สถานการณ์ “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา” จากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด19 นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กช่วงรอยต่อการศึกษา ซึ่งขณะนี้นับเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ หลัง ‘ตูน บอดี้สแลม’ ประกาศวิ่งหาทุนการศึกษาให้กับเด็ก ที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ยังไม่มีทุนเรียนต่อ ม.ปลาย หรือสายอาชีพ 109 คน
.
ผลสำรวจโดย กสศ. และ สพฐ. พบว่ากลุ่มเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อสูงที่สุด คือ หลังจบการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดสิ้นสุดที่ระดับ ม.3 โดยปัจจุบันกลุ่มเยาวชนอายุ 15-20 ปี ที่ไม่ได้เข้าศึกษาต่อในระดับ ม.4 หรือสายอาชีวะ ซึ่งขณะนี้ได้ออกจากระบบการศึกษาไปแล้วเกือบ 1 ล้านคน!
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่าเด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ได้เรียนต่อ แบ่งได้เป็นวัยการศึกษาภาคบังคับ 2 กลุ่ม คือ 

- กลุ่มเสี่ยงอายุ 3-15 ปีที่ยังอยู่ในระบบราว 1 ล้านคน 

- กลุ่มเด็กเยาวชนที่ถึงวัยเรียนแล้วยังไม่ได้เข้าเรียน รวมถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามาแล้วรวม 5 แสนคน 
.
ส่วนกลุ่มเด็กเยาวชนที่พ้นจากวัยการศึกษาภาคบังคับ 2 กลุ่ม คือ 

- กลุ่มอายุ 15-20 ปีที่อยู่ในระบบแต่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการศึกษาต่อ 1.53 แสนคน 

- กลุ่มเยาวชนอายุ 15-20 ปีที่ออกจากการศึกษาภาคบังคับมาแล้ว 9.7 แสนคน  
.
ในขณะที่ผลสำรวจจาก Mics: Unicef ชี้ว่า แม้เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนและจบชั้นประถมศึกษาได้ แต่เด็กที่มาจากครัวเรือนรายได้ต่ำที่สุด 20% ของประเทศ จะมีอัตราเรียนต่อระดับชั้นมัธยมต้นลดลงอย่างชัดเจน และเมื่อถึงระดับมัธยมปลายจะมีเด็กจากครอบครัวกลุ่มนี้ได้เรียนต่อเพียง 53% เท่านั้น
.
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจซ้อนด้วยโรคระบาด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ขีดเส้นความยากจนกลุ่มเด็กในระบบการศึกษาอายุ 3-14 ปี กำหนดให้เด็กเยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือน/คน/เดือน ต่ำกว่า 2,700 บาท เป็น “กลุ่มเด็กยากจน”
.
และกำหนดให้เด็กเยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือน/คน/เดือน ต่ำกว่า 1,021 บาท เป็น “กลุ่มเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ” ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้มีราว 1.17 ล้านคน จากจำนวนเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายรวม 9 ล้านคน