‘หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน’ ชัชชาติลุยผู้ว่าฯ สัญจร ปักหมุดคลองเตยที่แรก ย้ำห้ามอ้างชื่อทีมงานหาประโยชน์ ถ้ามีให้แจ้งความทันที
‘หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน’


วันนี้ (19 มิถุนายน 2565) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ ‘ผู้ว่าฯ สัญจร’ ครั้งแรกที่เขตคลองเตย โดยเริ่มจากการปลูกต้นไม้ที่สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า ศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เขตคลองเตย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
.
ระหว่างเดินชมศูนย์การเรียนรู้ ชัชชาติได้กินผักขึ้นฉ่ายจากต้นและน้ำสมุนไพร เช่น ใบเตย และอัญชัน พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงนาข้าวจำลอง
.
ต่อมาเวลา 09.30 น. ชัชชาติได้ประชุมร่วมกับสำนักงานเขตคลองเตยเพื่อรับฟังปัญหา ชัชชาติได้พูดในที่ประชุมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตคลองเตยว่า สิ่งที่เน้นย้ำคือความโปร่งใสและใช้ภาษีให้เต็มที่ และหากพบว่ามีใครนำชื่อทีมงานชัชชาติไปอ้างใดๆ ให้แจ้งตำรวจได้เลย เพราะถือเป็นการทุจริต จึงอยากฝากทุกคนว่าจะต้องไม่มีความอดทนกับเรื่องนี้ และอย่าให้คนเอาชื่อไปอ้าง ซึ่งสิ่งที่ตนเองชอบพูดคือเรื่องหินก้อนใหญ่ ที่จะเอาอะไรใส่ก่อนใน 3 อย่าง สิ่งแรกคือเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน และอย่างที่สองคือประสิทธิภาพในการให้บริการ ต้องทำให้จบและทำให้เร็ว โดยที่ผ่านมาใช้ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) และการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดการตอบสนองที่เร็วขึ้น โดยมีส่วนกลางของ กทม. เข้ามาคอยดูแล
.
อย่างที่สามคือการยึดให้คนเป็นศูนย์กลาง จะต้องเน้นคนเป็นหลัก สำนักงานเขตจะต้องหันหลังให้ผู้ว่าฯ และหันหน้าให้ประชาชน เดินเจอประชาชน ซึ่งหากทำงานแบบนี้ตนเองก็จะเป็นผู้หนุนหลังให้ และพร้อมจะยืนอยู่ข้างทุกคนในการทำงาน
.
ทั้งนี้ ชัชชาติได้กล่าวก่อนการประชุมว่า นโยบายผู้ว่าฯ สัญจร คือนโยบายที่ลงมารับฟังปัญหาเร่งด่วนของทุกเขตทั่ว กทม. โดยใช้คลองเตยเป็นเขตแรก เนื่องจากเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และมีปัญหามาก เพื่อขับเคลื่อนเป็นต้นแบบการแก้ไขไปยังชุมชนอื่น ซึ่งขณะนี้มีเรื่องรับแจ้งมากกว่า 20,000 เรื่อง และสามารถแก้ไขไปแล้วกว่า 3,000 เรื่อง พร้อมยอมรับว่าอาจจะมีบางเรื่องที่ กทม. ขับเคลื่อนเองไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง ก็จะช่วยประสานงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา
.
เฉพาะพื้นที่ของสำนักงานเขตคลองเตย ชัชชาติกล่าวว่าได้มีผู้ร้องเรียนกว่า 900 เรื่อง และเขตรับเรื่องแล้วกว่า 600 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 142 เรื่อง โดยการนำระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ เข้ามารวบรวมปัญหา ถือเป็นมิติใหม่ที่ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งยังให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งหลายเรื่องเป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น เช่น ปัญหาคนไร้บ้าน และประชาชนไม่มีรายได้
.
ทั้งนี้ ชัชชาติได้สั่งให้ กทม. สำรวจปัญหาการสวมหมวกนิรภัยของเด็กและเยาวชน หลังพบว่าภายหลังเปิดทำการเรียนการสอน เด็กส่วนใหญ่โดยสารโดยใช้รถจักรยานยนต์และไม่สวมใส่หมวกนิรภัย