ชาวศรีสะเกษหวั่นรำฉลอง 236 ปีกลายเป็นคลัสเตอร์โควิดขนาดใหญ่

ชาวศรีสะเกษหวั่นรำฉลอง 236 ปีกลายเป็นคลัสเตอร์โควิดขนาดใหญ่





ad1

ศรีสะเกษ-ชาวบ้านผวารำฉลอง 239 ปี ทั้งจังหวัดอาจจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่แพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ขณะที่แม่บ้านหลายคนถูกเกณฑ์ไปรำฉลองหวั่นรับเชื้อโควิด เพราะต้องไปอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก ไอเดียสุดเจ๋งเอาตัวรอดจ้างคนอื่นไปรำแทน

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายประหยัด  ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการประจำ จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปร่วมชมและให้กำลังใจคณะทีมนักแสดง นางรำ และทีมงานถ่ายทอดสด ในการซ้อมใหญ่เสมือนจริงในการจัดงานเฉลิมฉลอง 239 ปี จังหวัดศรีสะเกษ “สู่ขวัญบ้าน บายศรีเมือง รุ่งเรือง 239 ปี จังหวัดศรีสะเกษ”เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564  ที่บริเวณสวนสาธารณะกุดหวาย ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

ทั้งนี้ทางจังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดจัดงานนี้ขึ้นในระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ย. 2564  ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ และสวนสาธารณะกุดหวายแห่งนี้ และกำหนดจัดงานทั้ง 22 อำเภอของ จ.ศรีสะเกษ โดยในวันที่ 19 พ.ย. 64  ทุกอำเภอจะมีการรำฉลอง 239 ปีพร้อมกันทั้งจังหวัด ตามจุดต่าง ๆ ที่แต่ละอำเภอกำหนดขึ้น  ซึ่งมีการระดมนางรำที่เป็นสุภาพสตรีจากทุกหมู่บ้านทุกตำบล แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง 4 เผ่าไทย มาร่วมรำฉลองในครั้งนี้ 

นายเอกชัย (นามสมมุติ) อายุ 35 ปี ชาวศรีสะเกษคนหนึ่ง กล่าวว่า  ตนเห็นว่า การจัดงานฉลอง 239 ปี  จ.ศรีสะเกษ เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ที่ตนเป็นห่วงอย่างมากก็คือ  ขณะนี้ จ.ศรีสะเกษและประเทศไทย กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  โดยข้อมูลของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ศรีสะเกษ ประจำวันที่ 17 พ.ย. 64 ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 จ.ศรีสะเกษ ระลอก เม.ย. 2564  มีผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่วันนี้ จำนวน 32 ราย  สะสม 16,679 ราย เสียชีวิตสะสม 86 ราย  รักษาอยู่ 443 ราย  โดยเป็นผู้ติดเชื้อภายใน จ.ศรีสะเกษเพิ่มวันนี้จำนวน  30 ราย สะสม 3,811 ราย ผู้ป่วยเดินทางมาจากจังหวัดอื่นตรวจพบเชื้อที่ จ.ศรีสะเกษเพิ่มวันนี้ จำนวน  2 ราย  สะสม 11,183 ราย  โดยอำเภอที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดคือ อ.กันทรลักษ์ จำนวน 2,097 ราย รองลงมาคือ อ.ขุขันธ์  1,346 ราย  อ.ขุนหาญ 1,279 ราย อ.ศรีรัตนะ 1,242 ราย  อ.เมืองศรีสะเกษ 946 ราย  อ.ราษีไศล  921 ราย  อ.กันทรารมย์ 856 ราย อ.อุทุมพรพิสัย 848 ราย  

ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษจำนวนมาก  และตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้จัดให้ จ.ศรีสะเกษ อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุม โดยข้อมูลทั้งประเทศ ณ วันที่ 17 พ.ย. 64 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 6,524ราย รุนแรง 1,739 ราย เสียชีวิต 20,199 ราย  สะสม 2,037,224 ราย  ดังนั้น  การที่ จ.ศรีสะเกษ จะจัดให้มีการจัดงาน “สู่ขวัญบ้าน บายศรีเมือง รุ่งเรือง 239 ปี จังหวัดศรีสะเกษ”ระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ย. 2564  

โดยจะมีนางรำหลายพันคนมารำฉลองทั้ง 22 อำเภอของ จ.ศรีสะเกษ  จึงเป็นการเสี่ยงสูงต่อการที่อาจจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างมาก  เนื่องจากว่า จะต้องมีนางรำจากทุกหมู่บ้านทุกตำบลมารวมตัวกันรำ และทราบข่าวว่าทางราชการมีการทุ่มเงิน จำนวนเงินกว่า 600,000 บาท มาจ้างเอกชนจัดไลฟ์สดทางเพจเฟสบุ๊คแห่งหนึ่งเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานนี้ ซึ่งตนไม่ทราบว่า การจัดกิจกรรมนี้จะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ชาวศรีสะเกษกำลังได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมนาข้าวได้รับความเสียหายต้นข้าวเน่าตายจำนวนมาก อีกทั้งราคาข้าวเปลือกก็ตกต่ำอย่างหนัก และยังไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากทางราชการแต่อย่างใด ตนเกรงว่า การจัดงานครั้งนี้จะทำให้การ์ดการป้องกันตัวจากโควิด-19 ของชาวศรีสะเกษทุกคนต้องตกลง อาจจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.ศรีสะเกษพุ่งสูงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกก็ได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะเดียวกัน มีกลุ่มแม่บ้านหลายคนพากันหวาดผวากับการที่จะต้องเข้าไปร่วมรำฉลอง 239 ปีครั้งนี้ เพราะว่าจะต้องเข้าไปรวมกลุ่มรำกับนางรำจำนวนมาก  จึงได้คิดวิธีการสุดเจ๋งเอาตัวรอดไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปร่วมรำด้วย  โดยการว่าจ้างหญิงวัยรุ่นในหมู่บ้านเข้าไปรำแทน เพราะกลัวว่าตนเองอาจจะต้องติดเชื้อโควิด-19 จากการร่วมรำฉลอง 239 ปี ในครั้งนี้ก็ได้