ทีมทนายงัดไม้เด็ด! เปิดคำชี้แจงทีมกม.บิ๊กตู่ 23 หน้า 7 ข้อ อ้าง กก.กฤษฎีกาชุดพิเศษ ต้องนับจากรธน.ปี 60

ปิดคำชี้แจงทีมกม.บิ๊กตู่ 23 หน้า 7 ข้อ อ้าง กก.กฤษฎีกาชุดพิเศษ ต้องนับจากรธน.ปี 60

ทีมทนายงัดไม้เด็ด! เปิดคำชี้แจงทีมกม.บิ๊กตู่ 23 หน้า 7 ข้อ อ้าง กก.กฤษฎีกาชุดพิเศษ ต้องนับจากรธน.ปี 60





ad1

07 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดได้มีการเผยแพร่เอกสาร อ้างว่า เป็นเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาคำร้องวาระ 8 ปี นายกฯ  โดยเอกสารดังกล่าวมีทั้งสิ้น 23 หน้า ชี้แจงรายละเอียดเป็นข้อๆ ทั้งสิ้น 8 ข้อ 

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ระบุว่า แม้การดำรงตำแหน่งนายกฯครั้งแรก จะเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 และเป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ไม่อาจนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มานับรวมกับการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ เนื่องจากความเป็นนายกฯครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 พร้อมกับการสิ้นสุดลงของ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ดังนั้น ความเป็นนายกฯครั้งแรก จึงขาดตอนจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 มีที่ผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่การดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 6 เม.ย.2560 ต่อเนื่องมานั้น เป็นไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินกในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังเลือกตั้งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2560

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ระบุอีกว่า สำหรับข้อกำหนดห้ามเป็นนายกฯเกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ว่า เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิ ดังนั้น ต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัด จะตีความอย่างกว้าง ให้หมายความรวมถึงการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมิได้ ซึ่งหลักการตีความกฎหมายเรื่องการจำกัดสิทธิของบุคคลนี้ ตรงกับแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาในประเด็นการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ที่มีส่วนร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งประกอบด้วย นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นายนรชิต สิงหเสนี นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายอัชพร จารุจินดา และนายอุดม รัฐอมฤต ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 19/2565 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ลงวันที่ 17 มกราคม 2565

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ระบุอีกว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ในปัจจุบันไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดี สำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด ไม่เคยใช้อำนาจการเป็นผู้นำประเทศ หาผลประโยชน์ให้ตนเองหรือพวกพ้อง ดังนั้น ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าใด ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ไม่เคยใช้อำนาจผู้นำประเทศหรืออำนาจทางทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือของวงศาคณาญาติ หรือพวกพ้อง และไม่เคยคิดช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ที่ทำความเสียหายให้ประเทศหรือประโยชน์ของสาธารณะของประชาชน ให้กลับมามีอำนาจหรือเป็นผู้นำประเทศเพื่อใช้อำนาจ ก่อผลเสียต่อประโยชน์ของประเทศอย่างรุนแรงได้อีก

ส่วนประเด็นการหยิบยกบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ครั้งที่ 500 ลงวันที่ 7 กันยายน 2561 มิใช่บันทึกเจตนารมณ์ของการนับระยะเวลาหรือการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 ก็เป็นเพียงการประชุมเตรียมการจัดทำหนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอภิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560” เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำหนังสือฯแล้วเสร็จและจัดพิมพ์เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ก็มิได้นำเอาความเห็นหรือข้อหารือของนายมีชัย ฤชุพันธ์ กับ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เช่นว่านั้น มาใส่รวมไว้ในคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย และมิได้ปรากฎคำอธิบายใดๆ เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่กำหนดห้ามเกิน 8 ปี

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ชี้แจงด้วยว่า สำหรับกรณีการไม่เปิดเผยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินนั้น เป็นการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ที่ได้ตีความไว้ พร้อมชี้แจงว่า

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นหรือศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่อาจนำเหตุผลและเจตนารมณ์หรือแนวทางการปฎิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ไปใช้อธิบายหรือตีความหรือใช้เป็นแนวทางบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่มีลำดับชั้นหรือศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าได้ การที่ผู้ร้องอ้างแนวทางการยึดเอาการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าพเจ้าและคู่สมรสครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และการไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าพเจ้าและคู่สมรส ซึ่งเป็นการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาเป็นแนวทางปฎิบัติหรือการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ ที่เป็นบทบัญญัติกฎหมายจำกัดสิทธิของบุคคลนั้น จึงกระทำมิได้

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ระบุด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามหลักกฎหมาย มิใช่ตามข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชน ที่สำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง หากศาลรัฐธรรมนูญนำเอาข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปของประชาชนมาใช้ตีความกฎหมาย หรือวินิจฉัยพิพากษา ย่อมเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดอคติในการวินิจฉัยหรือพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้

การดำรงตำแหน่งที่มีข้อจำกัดห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ นั้น หมายถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่น หากรัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตนารมณ์ที่จะให้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วยก็ย่อมต้องบัญญัติไว้โดยแจ้งชัด ทั้งนี้ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง จึงไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหา ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ โดยเอกสารดังกล่าวมี จำนวน 23 หน้า ชี้แจงรายละเอียดจำนวน 8 ข้อ ดังนี้

1. ยืนยันว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ได้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง ”ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ( 6เมษายน 2560 ) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ยังระบุคำชี้แจงของพล.อ. ประยุทธ์ ว่า ข้าพเจ้าสำนึกและปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตลอดมาด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าเชื่อว่า สำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอันเป็นหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ใช่เฉพาะแต่ฉบับ 2560

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ว่าข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ตราบใด ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์สาธารณะของประชาชนแล้วระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าก็ไม่ได้ขัดต่อหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อย่างใด

“ข้าพระเจ้าเชื่อโดยสุจริต บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย หลักนิติธรรมและมาตรฐานสากลว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าในปัจจุบันยังไม่เกิน 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2557 ซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้ว มานับรวมกับนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ได้

ข้อ 5 บันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ที่ระบุความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สามารถนับรวมระยะเวลาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นั้น พบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของนายมีชัย กับนายสุพจน์ ไข่มุก เท่านั้น

ข้อ 6 ข้ออ้างที่ระบุ ว่า ข้าพเจ้าไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้

ข้อ 7 ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตีความและใช้รัฐธรรมนูญ วินิจฉัยลักษณะและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไม่ใช่ตามข้อเท็จจริงรับรู้โดยทั่วไปของประชาชน เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะการรับฟังข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป เป็นหลักที่ใช้ในการฟังพยานหลักฐานของศาลเท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความกฎหมาย

ข้อ 8 ขอกล่าวโดยสรุปว่า การกล่าวหาว่า ตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และขอย้ำว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจนับ จากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้า ได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ และการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกไม่เกิน 8 ปีนั้นหมายถึงการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น ดังนั้น ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตามหลักนิติธรรม จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ขอยื่นแก้ข้อกล่าวหา ลงชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี