ยังคลุมเครือ 320,000 ตัว ส่งออกได้อย่างไร? "ปลาหมอคางดำ" ไร้แหล่งที่มารอคำตอบชัดๆ

ยังคลุมเครือ 320,000 ตัว ส่งออกได้อย่างไร? "ปลาหมอคางดำ" ไร้แหล่งที่มารอคำตอบชัดๆ





Image
ad1

การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทย กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในปีที่ผ่านมาทั้งในแวดวงวิชาการ สิ่งแวดล้อม และสังคมในวงกว้าง ด้วยลักษณะเป็นปลาต่างถิ่นที่มีพฤติกรรมรุกรานระบบนิเวศของไทย และอาจเผชิญความเสี่ยงหากไม่จัดการอย่างเป็นระบบ รอบคอบและรัดกุม

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาด กลับมีคำถามสำคัญที่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน นั่นคือ “ปลาหมอคางดำกว่า 320,000 ตัว ที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยัง 17 ประเทศในช่วงปี 2556–2559 นั้นมาจากไหน?”

เอกสารการส่งออกที่กรมประมงจัดเก็บไว้ระบุชัดว่า มีการส่งออกปลาชนิดนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ไม่มีหลักฐานการนำเข้าอย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่า "ไร้แหล่งที่มา" ขัดกับหลักเกณฑ์ตาม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดไว้ว่า การส่งออกสัตว์น้ำต้องมีการแจ้งแหล่งที่มาอย่างโปร่งใส

คำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐระบุว่า เป็น “ความผิดพลาดในการกรอกเอกสารของบริษัทชิปปิ้ง” ที่ผิดพลาดต่อเนื่องกันนานถึง 4 ปี โดยไม่มีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ โดยอ้างว่าเกิดขึ้นกับบริษัทั้ง 11 ราย แต่กลับมีการสอบสวนเพียง 6 บริษัท และไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมายแม้แต่รายเดียว

คำถาม คือ หากเป็นความผิดพลาดทางเอกสาร เหตุใดจึงเกิดขึ้นซ้ำๆ เกิดต่อเนื่อง และในช่วงเวลานานหลายปีและกับบริษัทเดิม เหตุใดถึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเอกสารหรือหลักฐานต่อสาธารณะให้ตรวจสอบได้? ทำไมจึงไม่มีการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ว่า ปลาที่ส่งออกมีสายพันธุกรรมตรงกับปลาที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติในไทยหรือไม่?

หลักฐานจากต่างประเทศสะท้อนรูปแบบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่คล้ายคลึงรายงานในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ พบว่า การระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีต้นทางจากตลาดปลาสวยงาม ซึ่งปลาอาจหลุดรอดหรือลักลอบปล่อยลงแหล่งน้ำโดยผู้เลี้ยงที่ไม่ต้องการรับผิดชอบผลกระทบ

ในกรณีของประเทศไทย จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นตลาดปลาสวยงามขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเครือข่ายแหล่งน้ำที่เชื่อมโยงกับจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียง แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานใดพิสูจน์หรือเปิดเผยผลการสืบสวนว่าปลาหมอคางดำที่พบในธรรมชาตินั้น มีความเชื่อมโยงกับแหล่งเพาะเลี้ยงในพื้นที่เหล่านี้หรือไม่

หากมีการลักลอบนำเข้าปลาชนิดนี้เพื่อจำหน่ายในตลาดปลาสวยงาม แต่ภายหลังกลัวความผิดตามกฎหมาย จึงเลือก “ปล่อย” ลงแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทำลายหลักฐาน พฤติกรรมเช่นนี้ไม่เพียงผิดกฎหมาย แต่ยังอาจเป็นต้นเหตุของหายนะต่อระบบนิเวศพื้นถิ่น

การตรวจสอบแหล่งที่มาของการส่งออกจึงไม่ใช่เพียงการหาคนผิด แต่คือการป้องกันไม่ให้ ประเทศไทย ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่ไม่สามารถควบคุมสัตว์น้ำรุกรานได้ทันท่วงที ที่สำคัญทุกวันนี้ ยังมีการลักลอบนำเข้าสัตว์ต้องห้าม สัตว์แปลกๆ ปลาแปลกๆ ที่ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่องจับกุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อนิเวศของไทยได้หากไม่มีการควบคุมและจัดการที่เคร่งครัดและเป็นระบบ

การปกป้องระบบนิเวศและอุตสาหกรรมประมงของไทยไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงานรัฐเพียงลำพัง แต่คือความรับผิดชอบร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะเมื่อมีข้อเท็จจริงและหลักฐานหลายด้านที่ยังไม่มีคำอธิบายที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ เราไม่ควร “ด่วนสรุป” แต่ควร “ตั้งคำถาม” เพื่อค้นหาความจริง?

ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำในช่วงปี 2556–2559 ของทั้ง 11 บริษัทต่อสาธารณะและให้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เรื่อง DNA และแหล่งกำเนิดของปลา เพื่อตอบคำถามอย่างจริงจังและโปรงใส แม้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแต่ก็จำเป็นต้องพิสูจน์ และควรเดินหน้าแก้ปัญหาตามหลักวิชาการ ไม่เพิกเฉยที่จะร่วมมือกันกำจัดและควบคุมปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

โดย...สินี ศรพระราม นักวิชาการอิสระ