ฮือค้านโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ชำนิ ชี้อยู่ติดลำห้วย-หวั่นผลกระทบในรัศมี 5 กม.

ฮือค้านโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ชำนิ ชี้อยู่ติดลำห้วย-หวั่นผลกระทบในรัศมี 5 กม.





Image
ad1

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านในนามกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด อำเภอชำนิ  กว่า 150 คน ร่วมกันเดินขบวนเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 54 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลหนองปล่อง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีนายอำเภอชำนิมารับหนังสือ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้คัดค้านยังได้ยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ พลังงานจังหวัดบุรีรัมย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ นายกเทศบาลตำบลหนองปล่อง  เพราะไม่เห็นด้วยกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1

นายสมพงษ์ สงกูล กรรมการกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด กล่าวว่า ชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ณ ศาลาประชาคมอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งทางชาวบ้านที่คัดค้านมีข้อกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ 1.พื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลโรงงานไฟฟ้าชีวมวลไม่เหมาะสมเนื่องจากอยู่ติดกับลำห้วยลำประเทียที่ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัย และหวั่นเกรงถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ที่จะส่งผลถึงชุมชน วัด โรงเรียน รพ.สต. 2.เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำทั้งใต้ดินและเหนือผิวดิน 3.ปัญหาการจราจร 4.มลพิษในรัศมี 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในหลายตำบล

นายไพฑูรย์ ศรีเนาว์รัตน์ ชาวบ้านที่ร่วมคัดค้าน กล่าวว่า ชาวบ้านหลายพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจจะได้รับผลกระทบนั้นยังไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อนเลย ทั้งๆที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรให้ข้อมูลกับประชาชนถึงข้อเสียที่จะเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชน เพื่อให้พี่น้องในพื้นที่ได้นำไปตัดสินใจ

ทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือที่ชาวบ้านยื่นถึงผู้ว่าฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า 1.ให้ยุติการดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น2.ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจัดเวทีให้ข้อมูลกับชุมชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ครอบคลุมในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้าน เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่นำไปประกอบการตัดสินใจ 3.ให้บริษัทไม่ต้องสร้างโรงงานน้ำตาล แต่เปิดลานรับซื้อเพิ่มขึ้นมา 4.ให้หน่วยงานรัฐแต่งตั้งกรรมการเพื่อศึกษาศักยภาพของชุมชน เพื่อกำหนดแผนพัฒนาชุมชนตามความเหมาะสม ความถนัดในแต่ละพื้นที่