อบต.ผาสิงห์ เมืองน่าน เดินหน้าจัดการขยะ ส่งเสริมการคัดแยก หวังลดปริมาณขยะ สิ่งแวดล้อมดี

อบต.ผาสิงห์ เมืองน่าน  เดินหน้าจัดการขยะ ส่งเสริมการคัดแยก หวังลดปริมาณขยะ สิ่งแวดล้อมดี





Image
ad1

องค์การบริหารส่วนตำบลผาสิงห์ ดำเนินโครงการจัดการขยะมูลฝอย โดยจัดให้มีการประกวดชุมชนคัดแยกขยะดีเด่น ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นลดปริมาณขยะในพื้นที่  เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม  โดยเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะแต่ละประเภท รวมถึงแนวทางการนำขยะบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

นายรุ่งโรจน์  ขจรพงศ์กีรติ  นายก อบต.ผาสิงห์  เปิดเผยว่า  อบต.ผาสิงห์  ดูแลครอบคลุม  6  หมู่บ้าน มี  1,139 ครัวเรือน  มีลักษณะเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบท มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีสถานประกอบการด้านพาณิชยกรรม รีสอร์ท ชุมชนที่พักอาศัย โรงเรียนระตับประถม   โดยเฉลี่ยขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น จำนวน 4  ตันต่อวัน และนำขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมไปกำจัด ณ สถานที่ฝังกลบเทศบาลเมืองน่าน  ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าครัวเรือนยังขาดการคัดแยกขยะจากต้นทาง  จึงทำให้มีขยะตกค้า ง รวมไปถึงปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะ เช่น ไหล่ทางถนน หรือที่รกร้างว่างเปล่า

 โดยทางอบต.ผาสิงห์ ได้ตระหนักถึงปัญหานี้  ได้จัดให้มีโครงการจัดการขยะมูลฝอยขึ้น  เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนและเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะที่ถูกต้อง  มีความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ การจัดการขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง   ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการคัดแยกขยะจากต้นทางภายในชุมชนของตนเอง  โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่  ไม่ว่าจะเป็นในชุมชน สถานศึกษา หรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน   ปริมาณขยะลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของขยะที่เกิดขึ้นก่อนเริ่มดำเนินโครงการ  เกิดสภาพแวดล้มที่ดีในแต่ละชุมชน  และยังสร้างชุมชนต้นแบบด้านการคัดแยกขยะ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 เดือน ถึงวันที่ 9 เมษายน 2568 นี้  โดยมีเกณฑ์การตัดสิน ชุมชนจะต้องมีการคัดแยกขยะแบ่งเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ขยะอินทรีย์  ขยะที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษพืชผักผลไม้  ขยะรีไซเคิล   ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลาสติก แก้ว กระดาษ โลหะขยะอันตราย  ขยะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ สารเคมี  และ ขยะทั่วไป  ขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้ เช่น ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร โฟม  และขยะต้องมีการจัดใส่ถุงดำปิดมิดชิดมาวางตามวันรถเข้าเก็บขยะ โดยพนักงานเก็บขยะจะเป็นผู้รายงานข้อมูลแก่คณะกรรมการ ซึ่งจะมีการตรวจในแต่ละเดือน  ทั้งนี้ชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นเงินสด 2000 บาท  ลำดับที่ 2  เงินสด 1500 บาท และลำดับที่ 3 เงินสด 1000 บาท

อย่างไรก็ตาม โครงการจัดการขยะมูลฝอยนี้  นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสังคมที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ระรินธร   เพ็ชรเจริญ  รายงาน