ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ ม.หาดใหญ่เผยปชช.อยากให้รัฐบาลลดค่าน้ำ-ไฟ ฟื้นคนละครึ่งช่วยกระตุ้นศก.คึกคัก

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ ม.หาดใหญ่เผยปชช.อยากให้รัฐบาลลดค่าน้ำ-ไฟ ฟื้นคนละครึ่งช่วยกระตุ้นศก.คึกคัก





Image
ad1

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่ารวมเดือนกุมภาพันธ์ (44.50) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2568 (44.30) และเดือนธันวาคม 2567 (44.10)ดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่ม ภาวะเศรษฐกิจ รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 

“ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-Receipt) ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และโครงการแจกเงิน 10,000 บาท วงเงินถึงปัจจุบันประมาณ 28,250 ล้านบาท ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุสามารถนำเงินไปใช้ในสิ่งของตามความต้องการ และเก็บไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็น”

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงิน แม้ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ช่วงสั้น ๆ เป็นการบรรเทากับผู้ที่ได้รับเงินในช่วงหนึ่ง โดยปัจจุบันประชาชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายมีมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชลดลง หนี้สินครัวเรือนสูงกว่า 90% ของ GDP และประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ทำให้หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2567 เงินเฟ้อเพียง 0.4% เพราะจำนวนไม่น้อยเป็นสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากจีน เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า กระเป๋า และของตกแต่งบ้าน ฯลฯ  แต่ยังมีรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้นมากเพราะสินค้าหมวดพลังงาน น้ำมัน แก๊ส และในช่วง 5  ปี เพิ่มขึ้นถึง 23% ซึ่งการเพิ่มขึ้นทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นตาม

นอกจากราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นมีการเพิ่มขึ้น 8% และราคาอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 12-20% ขึ้นอยู่กับความเจริญทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางและในส่วนที่ประชาชนคาดหวังเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยประชาชนและนักวิชาการได้เสนอแนะต่อรัฐบาล  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 1) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งหรือเราชนะ ลดภาษีสินค้าและบริการบางประเภท สนับสนุนการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 

2) มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่นลดค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเดินทาง 3) กระตุ้นการลงทุน ลดภาษีสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ

4) มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน เช่น สนับสนุนเงินอุดหนุนให้บริษัทจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และส่งเสริมโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน

5) พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับธุรกิจชุมชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นอกเมืองเพื่อกระจายความเจริญไปยังท้องถิ่น

6) ด้านภาษีและเงินอุดหนุน ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง สนับสนุนเงินอุดหนุนให้ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในความดูแล

2. พร้อมเสนอแนะมาตรการลดรายจ่ายให้กับประชาชน 1) ลดค่าครองชีพพื้นฐานควบคุมราคาสินค้าและบริการที่จำเป็น  อาหาร น้ำมัน ขนส่ง ยา และปรับลดภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น อาหารสด ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และก๊าซหุงต้ม

2) ปฏิรูปภาคการขนส่งและพลังงาน พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพและราคาถูกในตัวเมืองของแต่ละจังหวัด เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยการสนับสนุนพลังงานสะอาดและทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์โดยให้มีการกำกับดูแลราคาน้ำมันและพลังงาน ป้องกันการผูกขาด และควบคุมต้นทุนของพลังงาน

3) ส่งเสริมที่อยู่อาศัย เช่น โครงการบ้านราคาถูกและบ้านเช่าราคาประหยัด สำหรับผู้มีรายได้น้อย ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้สามารถมีบ้านเป็นของตัวเอง

4) สนับสนุนระบบสวัสดิการด้านการศึกษาแบบทั่วหน้า เพื่อให้สามารถศึกษาได้ถึงระดับปริญญาตรี

3. ปฏิรูปประกันสังคม ดังนี้

1) การให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน แต่ต้องไม่บริหารด้วยระบบราชการ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารกองทุน และจัดการกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมืออาชีพเข้ามาบริหารกองทุนเพื่อให้ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น

2) ปรับปรุงระบบบริหารกองทุนให้มีความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน โดยให้ผู้ประกันตนมีสิทธิออกเสียง และมีตัวแทนในคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการบริหารงานที่ผิดพลาด และการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ รวมถึงตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยของประกันสังคม

3) ปรับสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนให้ดีกว่าบัตรทอง โดยเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายให้กับประกันสังคมควรเป็นสิทธิประโยชน์ Top Up ให้กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะสิทธิการทำฟัน ทั้งนี้เมื่อเพิ่มสิทธิการทำฟัน ก็ควรควบคุมการขึ้นราคาทำฟันของคลีนิกทันตกรรมด้วย

4) เพิ่มเงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทั้งนี้ หากเงินค่ารักษาพยาบาลของประกันสังคมจำนวน 70,000 ล้านบาท หากไม่สามารถนำไป Top Up เพื่อเพิ่มสิทธิรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนได้ ก็ให้นำไปเพิ่มให้กับเงินบำนาญชราภาพแก่ผู้ประกันตน.