อุทัยธานียกระดับปราบปรามยาเสพติดสนองนโยบายรัฐบาล

อุทัยธานียกระดับปราบปรามยาเสพติดสนองนโยบายรัฐบาล





Image
ad1

จังหวัดอุทัยธานี จัดประชุมรับฟังการมอบนโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  ตามโครงการขยายผลการซับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด

เวลา 09.30 น. วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2567) พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 พลตำรวจเอก ไกรบุญ ทรวดทรง  จเรตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโทภานุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ  ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พลตำรวจโท กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์  ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 พลตำรวจโท อุดร ยอมเจริญ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมประชุมโครงการมอบนโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  

ตามโครงการขยายผลการซับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา พื้นที่จังหวัดอุทัยธานี โดยมีนายธีรพัฒน์ คัชมาต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังแนวทางของการแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ ห้องประชุม สุญาโณทัย ชั้น 9 โรงพยาบาลอุทัยธานี

โดยข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งเป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567  ใช้ 'ธวัชบุรีโมเดล' ขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยเริ่มจังหวัดนำร่อง  10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ สกลนคร นครพนม  ระยอง นครศรีธรรมราช ตรัง และนราธิวาส ซึ่งจังหวัดอุทัยธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง

ทั้งนี้ จึงเป็นการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้ประชาชนชาวจังหวัดอุทัยธานีมีความสุข สู่เป้าหมายยาเสพติดลดลง 90% สำหรับข้อสั่งการของนายกฯ มี ดังนี้ 

1. ให้ ปปส.จัดทำ Dashboard เป็นฐานข้อมูลกลางเพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลร่วมกัน และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเป็นปัจจุบัน ทั้งเรื่องสถานการณ์ยาเสพติด แผนการดำเนินการของแต่ละจังหวัด การรายงานผลการดำเนินการ และการประเมินผล โดยขอให้ทุกหน่วยได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน

2. เรื่องการปราบปราม ขอให้ตัดวงจรค้าขายยาเสพติด เพิ่มประสิทธิภาพการยึดการอายัดทรัพย์อย่างเด็ดขาด มีบทลงโทษที่จริงจัง ชัดเจน และเมื่อดูแลประชาชนแล้ว ต้องดูแลข้าราชการและคนทำงานด้วยเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของประชาชนว่าคนทำงานไม่มีใครยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเด็ดขาด จะได้ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง ประชาชนจะไว้ใจในหน่วยงานของคนที่จะเข้าไปดูแล เข้าไปปราบปราม เข้าไปบำบัด ต้องเป็นตัวอย่างก่อน ให้ทุกคนทำตามเราได้

3. ด้านการบำบัดรักษา ขอให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ทำงานอย่างบูรณาการ ขอให้เร่งพิจารณาในการเพิ่มสถานพยาบาล เช่นการเปิดศูนย์บำบัดผู้ป่วยยาเสพติด ในเรื่องการตัดวงจรของยาเสพติดถือเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนที่สุด แต่อยากให้จำไว้เสมอว่าการดูแลคนที่เสพยาคือการรักษาคนที่ป่วย 

คนที่ไม่สบาย ขอให้ทุกคนใจดี มีเมตตากับผู้เข้ามาบำบัดรักษา กำลังใจเท่านั้นที่จะทำให้คนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้เดินออกไปอย่างสง่างาม ด้วยใจที่เข้มแข็ง ที่สำคัญเรื่องการฝึกอาชีพ รัฐบาลกำลังวางแผนเพิ่มเติมให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้เขามีอาชีพอย่างจริงจังเพื่อเป็นฐานของการประกอบอาชีพ จะได้กลับมาช่วยครอบครัวต่อไป.

ชนัญญา  อึ้งอภิรักษ์ / ข่าวอุทัยธานี