หมอคางดำ กับ หมอสีคางดำ ... คือตัวเดียวกัน

หมอคางดำ กับ หมอสีคางดำ ... คือตัวเดียวกัน





ad1

ในที่สุดประเทศไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาหมอสีคางดำเป็นปลาสวยงามไปใน 17 ประเทศ จำนวนกว่า 2.3 แสนตัว ในช่วงปี 2556-2559 โดย 11 บริษัทส่งออก จากการเปิดเผยของอธิบดีกรมประมง ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากสังคมไม่น้อย ด้วยมันสะท้อนให้เห็นทันทีว่า อาจมีการนำเข้าโดยผู้อื่นได้อีก เช่น ผู้เพาะพันธุ์ปลาขาย

ในฐานะที่ติดตามข่าวสารเรื่องนี้มาพอควรก็เริ่มรู้สึกเห็นใจภาคเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อการวิจัยอย่างชัดเจน กลับต้องกลายเป็นจำเลยสังคมตามความเชื่อของคนหมู่มาก การพบว่ามีผู้อื่นทำธุรกิจส่งออกปลาชนิดนี้ด้วย แม้จะทำให้สถานการณ์ของภาคเอกชนดูดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังมีคนตั้งคำถามต่อเนื่อง จนคล้ายจะไม่เชื่อว่ามีการส่งออกเป็นปลาสวยงามจริง

1.)ปลาหมอคางดำ กับปลาหมอสีคางดำ เป็นตัวเดียวกันหรือไม่?

ในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ปลา พ.ศ. 2561 ระบุชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลาหมอสีคางดำ” อย่างชัดเจน แต่ระยะหลังกลับมีการตัดคำว่า “สี” ออกไปจากชื่อปลา นัยว่าเป็นเพราะมีผู้เรียกร้องให้ตัดออก เพื่อไม่ต้องการให้ปลาเจ้าปัญหานี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปลาสวยงาม ทำให้ระยะหลังจึงเรียกขานปลาชนิดนี้ว่า “ปลาหมอคางดำ” กันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็สามารถตอบคำถามนี้ได้ว่ามันคือปลาตัวเดียวกัน

2.)ในเอกสารการส่งออกระบุชื่อว่าปลาหมอเทศข้างลาย ทำไมอธิบดีกรมประมงจึงมั่นใจว่ามันคือปลาหมอคางดำ?

ในตารางรายการส่งออกปลาชนิดนี้ระบุชื่อปลาเป็นภาษาไทยว่า ปลาหมอเทศข้างลาย ซึ่งเป็นชื่อเดิมของปลาหมอคางดำ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น ปลาหมอสีคางดำ และ ปลาหมอคางดำ ตามลำดับในปัจจุบัน แต่เนื่องจากชื่อวิทยาศาสตร์จะเป็นชื่อที่สำคัญที่สุดในการจำแนกปลาแต่ละชนิดออกจากกัน โดยหากเป็นปลาหมอเทศข้างลาย จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis aureus ส่วนปลาหมอสีคางดำ ซึ่งใช้ชื่อสามัญว่า Blackchin Tilapia นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ตรงกับในเอกสารการส่งออกว่า Sarotherodon melanotheron นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อธิบดีกรมประมงมั่นใจว่า นี่คือการส่งออกปลาหมอสีคางดำอย่างไม่ต้องสงสัย

สอดคล้องกับที่ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตพร้อมแนบตารางส่งออกปลาหมอคางดำ ในเพจเฟซบุ๊คแห่งหนึ่งว่า “ภาพตัวอย่างของข้อมูล excel การส่งออกไปประเทศต่างๆ ของกรมศุลครับ (แต่ไม่มีระบุข้อมูลว่าจับปลามาจากไหน เป็นการจับจากธรรมชาติหรือเพาะเลี้ยง) ป.ล. จุดน่าสังเกตคือ ยุคนั้นยังเรียกว่า ปลาหมอเทศข้างลาย .. แต่ท่านอธิบดียืนยันว่าเป็น ปลาหมอคางดำ ตามชื่อวิทยาศาสตร์ครับ ป.ล. 2 ไม่แน่ใจที่มาของการที่ยุคนั้นให้เรียก ปลาหมอเทศข้างลาย เหมือนกันครับ .. แต่ในยุคที่บริษัทจะนำเข้าปลามาวิจัย ในเอกสารขออนุญาต เค้าเรียกว่า "ลูกปลานิลจากประเทศกาน่า" ก็โดนให้แก้เป็น "ปลาหมอเทศข้างลาย" ... ชื่อ ปลาหมอคางดำ น่าจะมาตอนที่จะเริ่มประกาศควบคุมการนำเข้าส่งออก ปี 2561แล้ว”ซึ่งก็น่าจะคลายข้อกังขาได้แล้วว่า ปลาชนิดนี้ถูกส่งออกในฐานะ “ปลาสวยงาม” จริง ๆ.

โดย.... สลิลา มหรรณพ