ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า “สินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้าไทยมากมาย ทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายในลักษณะลักลอบนำเข้า และสำแดงเท็จ คล้ายกรณีสินค้า “หมูเถื่อน” ที่สำแดงเป็นอาหารทะเล ทำให้การตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานสินค้าเป็นไปได้ยาก ซึ่งถ้ามาตรการควบคุมดูแลของประเทศไทยดีจะไม่กระทบภาคการผลิตของประเทศขนาดนี้ แต่เวลานี้ SME หลายรายต้องปิดตัว จึงเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนกับภาครัฐต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไขอย่างจริงจังก่อนที่จะสายเกินไป”
นับเป็นมุมมองที่สะท้อนว่า ถึงเวลาจำเป็นอย่างยิ่งแล้วที่ประเทศไทย ต้องดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการควบคุมดูแลการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าผิดกฎหมาย ทุกชนิดเพราะมันกระทบภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศอย่างประเมินค่าไม่ได้ แต่เมื่อหันมามอง คดีหมูเถื่อนที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ก็สะท้อนใจว่า มาตรการดีๆ ที่ ประธาน ส.อ.ท.พูดถึง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขนาดคดีดังอย่างหมูเถื่อนยังเจอ “ตอ” จนต้องสะดุดหยุดเดินหน้า และปล่อยให้เงียบหายไปกับสายลม
ฤา “เหยื่อ” อย่างคนเลี้ยงหมูไทย ต้องทำใจยอมรับความผิดหวังที่ไม่สามารถ จับกุม “ผู้บงการ” หมูเถื่อนได้ เพียงเพราะอิทธิพลระดับนักการเมือง มีพาวเวอร์มากพอที่จะทำให้ดำกลายเป็นขาว ผิดกลายเป็นถูก และไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายมูลค่าหมื่นล้านของเศรษฐกิจชาติเลยแม้แต่น้อย
เรื่องราวของหมูเถื่อนถูกพูดถึงน้อยลง และค่อยๆ เจือจางจนเหมือนหายไป นับเป็นประโยชน์กับพวกมิจฉาชีพยิ่งนัก เสียงเรียกร้องของคนเลี้ยงหมูคงแผ่วเบาเสียจนผู้รักษากฎหมายไม่ได้ยิน ล่าสุด ที่เกษตรกรออกมาถามหาผลการตรวจสอบท่าเรือคลองเตยซึ่งพบตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นตกค้างอีกหลายตู้ก็ “ไม่มีสัญญาณตอบรับ” ใดๆ จากการท่าเรือ หรือ กรมศุลกากร ยิ่งทำให้คนเลี้ยงหมู “หมดใจ”
หากเกษตรกรต้องทำใจยอมรับว่า “ผู้ร้าย” คงลอยนวลเป็นแน่ อย่างน้อยก็ขอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างรูปแบบการบริหารจัดการและป้องกันของเถื่อนเสียใหม่ อย่าให้เกิดเหตุการณ์ “หมูเถื่อน” เกิดขึ้นมาซ้ำรอยอีกในอนาคต ก็อาจจะยังพอต่อความมั่นใจให้เกษตรกรไทยประกอบอาชีพนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงมาตรการดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ที่กำกับดูแลกรมศุลกากร ซึ่งเป็นด่านหน้าที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการตรวจสอบสินค้าเข้าประเทศให้เข้มข้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูแลกรมปศุสัตว์และกรมประมงที่ต้องมีสายตาสัปปะรด รู้เท่าทันปริมาณผลผลิตในประเทศเชื่อมโยงถึงปริมาณสินค้าที่ลักลอบหรือแม้แต่ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในที่ต้องกำกับการค้าขายเนื้อหมู ต้องจับสังเกตุได้ถึงราคาที่ตกต่ำจากปริมาณเนื้อหมูที่มากเกินจริงและต้องส่งสัญญาณอันตรายไปยังหน่วยงานต้นน้ำ รวมถึงเร่งตรวจสอบห้องเย็นห้างร้านที่อาจวางจำหน่ายของเถื่อน ตลอดจน กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องเข้มบังคับใช้กฎหมาย หรือแม้แต่ กระทรวงยุติธรรม ที่กำกับดูแล DSI หรือหน่วยงานที่พร้อมจัดการเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ก็ต้องเข้มแข็งเด็ดขาดเช่นกัน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำงานกันเป็นเครือข่ายใยแมงมุมเช่นนี้ ก็น่าจะปกป้องคนไทยให้ปลอดภัยจากการถูก “ของเถื่อน” รุกรานได้... เศรษฐกิจไทยจะไม่ชอกช้ำดังที่กำลังเกิดขึ้น
หรือสิ่งที่ขอนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น ... เหมือน “ของเถื่อน” และ “คอรัปชั่น” ที่ไม่มีทางหมดไป.
โดย...วลัญช์ ศรัทธา