จนท.ผลักดันช้างนับ 100 ตัวคืนสู่ป่าอุทยานฯทับลานสำเร็จ

จนท.ผลักดันช้างนับ 100 ตัวคืนสู่ป่าอุทยานฯทับลานสำเร็จ





ad1

นครราชสีมา – จนท.อช.ทับลาน ต้อนช้างป่ากว่า 100 ตัวกลับเข้าอุทยานฯ สำเร็จแล้ว หลังช้างป่าออกหากินพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านจระเข้หิน อ.ครบุรี โคราช นานหลายเดือน

นี่คือภาพจากกล้องวงจรปิดระบบ NCAPS ซึ่ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ติดตั้งไว้ที่บริเวณช่องเขาขาด ภายในเขตป่าชุมชนป่าเขาประดู่ ท้องที่ตำบลจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เป็นภาพของโขลงช้างป่า ประมาณ 20 ตัว ทยอยเดินทางออกจากหุบเขาขาด มุ่งหน้ากลับเข้าไปยังเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อเวลา 21.00 น.วันที่ 26 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากถูกทางเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครป้องกันช้างป่าตำบลจระเข้หินดำเนินการปิดล้อมมานานนับเดือน เพื่อผลักดันให้ช้างป่ากลับคืนสู่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน หลังจากที่โขลงช้างป่าได้ออกจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มาพักอาศัยในป่าชุมชนดังกล่าว ซึ่งอยู่คั่นกลางระหว่างพื้นที่ทำกินของชาวบ้านตำบลบ้านใหม่และตำบลจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ใช้เป็นแหล่งกบดานออกหากินเหยียบย่ำผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน 2 ตำบล มาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งช้างป่าโขลงนี้ เป็นโขลงสุดท้ายแล้วจากทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 70 ตัว ที่ถูกต้อนกลับเข้าสู่ป่าอุทยานฯ ได้สำเร็จ  สร้างความโล่งใจให้กับเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่ทำการเกษตรอยู่บริเวณนั้น เพราะที่ผ่านมา โขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว ได้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านไปแล้วนับร้อยไร่

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า  ปัญหาช้างป่าออกจากอุทยานแห่งชาติทับลานไปทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านโดยรอบอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น มีความรุนแรงขึ้นทุกพื้นที่ อย่างกรณีที่ ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา มีการรวมโขลงของช้างเกือบ 100 ตัว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ฯ ได้พยายามดำเนินการผลักดันช้างป่าโขลงนี้มาโดยตลอด แต่ด้วยอุปสรรคทางภูมิประเทศที่มีความสูงชัน มีช่องทางออกเพียงทางเดียวที่ค่อนข้างแคบ ประกอบกับบริเวณโดยรอบ มีการปลูกพืชซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของช้างป่า อย่างเช่น มันสำปะหลังและอ้อย จึงเหมือนเป็นการเชิญชวนให้ช้างออกจากป่าแล้วไม่ยอมกลับอุทยานฯ ตามเดิม  ทำให้มีการรวมโขลงกันของช้างจำนวนมากขนาดนี้  สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะอ้อยที่กำลังขายได้ราคาดี  

อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ฯ ได้มีการลองผิดลองถูกปรับเปลี่ยนการใช้วิธีผลักดันช้างหลากหลายวิธี  ท้ายที่สุดได้ใช้วิธีการฉวยโอกาสที่ช้างกินอิ่ม และกำลังจะเดินกลับเข้าที่ซ่อนตัว ซึ่งเป็นช่วงที่ช้างจะมีภาวะความเครียดน้อยที่สุด ทำการปิดล้อมผลักดันด้วยการใช้เสียงคน หรือเสียงจากเครื่องมือธรรมชาติที่ไม่มีเสียงดังหรือสร้างความตื่นตกใจให้ช้างมากนัก มาใช้เป็นเครื่องมือผลักดันเพื่อให้ช้างเกิดความเครียดน้อยที่สุด  เพราะหากเกิดความเครียดหรือตกใจมาก ช้างอาจจะแยกโขลงและควบคุมทิศทางช้างลำบาก สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่  ซึ่งปรากฏว่าได้ผล ทำให้ตอนนี้ช้างป่าโขลงใหญ่ที่สร้างปัญหามานานหลายเดือนให้กับชาวบ้านใน ต.จระเข้หินและ ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี ได้กลับเข้าสู่ป่าทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ฯ จะยังคงวางกำลังลาดตระเวนตรวจตรา เพื่อดูว่ายังมีช้างเล็ดลอดหลงเหลืออยู่ในพื้นที่หรือไม่ หากพบก็จะเข้าทำการผลักดันตามแผนทันที พร้อมกับประสานกำลังร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและอาสาสมัครในพื้นที่ เพื่อจัดเวรยามเฝ้าระวังช้างป่าในจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อสกัดกั้นช้างอย่างเป็นขั้นตอน ก่อนที่ช้างจะออกไปสร้างความเดือดร้อนอีก .

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา