อุบัติเหตุ-วันแรก ตาย 34 เจ็บ 335 ถูกคุมประพฤติ 542 คดี เมาขับแซงปีก่อน 58%

อุบัติเหตุ-วันแรก ตาย 34 เจ็บ 335 ถูกคุมประพฤติ 542 คดี เมาขับแซงปีก่อน 58%





ad1

วันแรกของการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2567 จับเมาแล้วขับ ได้อื้อ ขณะที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 34 ศพ เจ็บ 335 คน “ปราจีนบุรี” แชมป์ตาย ส่วน “ขอนแก่น” ควบแชมป์เกิดอุบัติเหตุ-บาดเจ็บสูงสุด พบ “เมาแล้วขับ-ขับเร็ว” ทำเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ด้านกรมคุมประพฤติชี้แค่วันแรกดำเนินคดีแล้ว 542 คดี เป็นคดีเมาแล้วขับถึงร้อยละ 95.02 พุ่งจากช่วงเดียวกันของปีใหม่ 2566 ร้อยละ 58

ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธ.ค.2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 335 คน ผู้เสียชีวิต 34 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.23 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.01 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.00 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 86.43 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.00 ถนนใน อบต.หรือหมู่บ้าน ร้อยละ 32.45 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ เวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 8.13 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 20.05 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,775 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,636 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น 24 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น 23 คน

นายโชตินรินทร์กล่าวอีกว่า การเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงจุดหมายแล้ว บางส่วนยังอยู่ระหว่างเดินทาง จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนพบว่าถนนกรมทางหลวง ถนนใน อบต. และหมู่บ้าน รวมถึงถนนที่เป็นเส้นทางตรงเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุสูง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงเน้นย้ำจังหวัด ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งถนนสายหลักและสายรอง โดยเปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยง ทางลัด เพื่อให้การสัญจรเป็นไปด้วยความคล่องตัว รวมถึงเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งทางแยก ทางร่วม และบริเวณที่มีการก่อสร้างถนน พร้อมดูแลเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตลอดจนเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยง ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด

ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ.ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ.ได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานภาคีเครือข่ายสร้างความปลอดภัยทางถนนในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) เน้นการวางแผนแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์อุบัติเหตุ โดยเฉพาะการดูแลจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เน้นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ในระยะนี้บางพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะภาคใต้ สภาพถนนมีความเปียกลื่น จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการสัญจรผ่านเส้นทางที่มีฝนตกหนัก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ขอฝากให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์“ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID@1784 DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

วันเดียวกัน นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่ 29 ธ.ค.ว่า วันแรกของการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 มีคดีทั้งสิ้น 542 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 515 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.02 คดีขับรถประมาท 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.18 และคดีขับเสพ 26 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.8 เมื่อเปรียบเทียบคดีขับรถขณะเมาสุราปีใหม่ 2566 มีจำนวน 214 คดี กับปีใหม่ 2567จำนวน 515 คดี พบว่าเพิ่มขึ้น 301 คดี คิดเป็นร้อยละ 58

สำหรับจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สมุทรปราการ 78 คดี กรุงเทพมหานคร 69 คดี และนนทบุรี 53 คดี มาตรการเข้มสำหรับผู้กระทำผิดคดีขับรถขณะเมาสุรา กรมคุมประพฤติจะดำเนินการคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงจากการติดสุราจะส่งบำบัดรักษาตามสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข