โครงการชลประทานศรีสะเกษแจงประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ครั้งที่ 2


ศรีสะเกษ-โครงการชลประทานศรีสะเกษ ประชุมเพื่อหารือและชี้แจงรายละเอียดโครงการโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายสราวุฒิ แน่นหนา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือและชี้แจงรายละเอียดโครงการ "โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ" โดยบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมประชุมหารือ ณ โครงการชลประทานศรีสะเกษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิบัติงานของโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นไปตามแผนงานโครงการดังกล่าวข้างต้นต่อไป
ในการนี้นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้มีข้อนำเสนอในที่ประชุมจำนวน 2 ประเด็น ได้แก่
1. การเพิ่มระดับน้ำเก็บกักสูงสุด โดยขอให้พิจารณานำปริมาณน้ำที่ระดับ Dead storage มาคำนวณด้วย ดังนั้นหากมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง(inflow) จำนวน 11.0 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระดับ dead storage 0.80 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่จะเป็นตัวกำหนดระดับน้ำสูงสุดควรเป็น 11.80 ล้าน ลบ.ม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการเก็บน้ำสูงสุดให้กับราษฎรและอาจก่อสร้างฝายพับได้ที่ทางระบายน้ำล้น เพื่อใช้ในประกอบในด้านการบริหารจัดการน้ำ
2. ให้พิจารณานำนวัตกรรมของโครงการชลประทานศรีสะเกษ " สแกน แอนด์ คลิก " ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่โครงการชลประทานศรีสะเกษได้รับรางวัลชนะเลิศระดับกรมชลประทานในปี 2565 ที่เกี่ยวข้องกับหลักเขตชลประทาน ซึ่งสามารถสแกน QR Code เพื่อหาหมุดหลักเขต ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบุกรุกและการขยับหลักเขตของราษฎร โดยกรมชลประทานไม่ต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซมปักหลักเขตในอนาคตอีกต่อไป
และจากการประชุมครั้งที่ 1 โครงการชลประทานศรีสะเกษได้มีการนำเสนอข้อคิดเห็นไปแล้ว จำนวน 2 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
1. การเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักจากเดิม 8,000,000 ลูกบาศก์เมตรเป็น 11,000,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎร เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้า (Inflow) จากพื้นที่รับน้ำ (watershed area) เพียงพอ
2. กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การเวนคืนที่ดิน รวมถึงการจ่ายค่าชดเชย โดยให้บรรจุในเล่มการศึกษานี้ด้วย
ทั้งนี้หากดำเนินการแล้วเสร็จ จังหวัดศรีสะเกษจะมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเพิ่มอีกจำนวน 1 แห่ง จากเดิมมีทั้งหมด 16 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 11.80 ล้าน ลบ.ม.
เสนาะ วรรักษ์/รายงาน