การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นผู้หญิงเต็มวัย: ประสบการณ์จากสตรีอินโดนีเซียที่แต่งงานและมีลูกเมื่ออายุยังน้อย

การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นผู้หญิงเต็มวัย: ประสบการณ์จากสตรีอินโดนีเซียที่แต่งงานและมีลูกเมื่ออายุยังน้อย





ad1

ในมุมมองเส้นทางชีวิต ช่วงเวลาและการตัดสินใจเกี่ยวกับการสมรสเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางในอนาคต ในการนี้ การแต่งงานจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญในเส้นทางชีวิตของผู้หญิง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นลูกสาวสู่การเป็นภรรยา อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นผู้หญิงเต็มวัยผ่านการสมรสสามารถเป็นได้ทั้งประสบการณ์แห่งความสุขหรือความทุกข์ ในบริบทของอินโดนีเซีย การสมรสในวัยเยาว์ (early marriage) อาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้สำหรับคนอินโดนีเซียบางส่วน เนื่องจากการแต่งงานเป็นการป้องกันการประพฤติผิดทางเพศ (zina) และเป็นการรักษาคุณค่าและความไร้เดียงสาของเด็กหญิง อีกทั้งยังเป็นประสงค์ของพระเจ้าที่ไม่ควรถูกกีดกัน อย่างไรก็ดี การสมรสของหญิงชาวมุสลิมตามประเพณีท้องถิ่นอาจส่งผลกระทบต่อเด็กหญิง เนื่องจากการตัดสินใจเกี่ยวกับการสมรสมักเป็นการตัดสินใจโดยผู้ปกครองหรือผู้สูงอายุ

อาจารย์ ดร. ดิยาฮ์ อนันตาเลีย วิดยาสตาริ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นผู้หญิงเต็มวัย: ประสบการณ์จากสตรีอินโดนีเซียที่แต่งงานและมีลูกเมื่ออายุยังน้อยการศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative approach) แบบพหุกรณีศึกษา (multiple case study) โดยสัมภาษณ์ผู้หญิง 6 คน จากครอบครัวเกษตรกรหรือพ่อค้า (asongan) ที่สมรสก่อนอายุครบ 18 ปี และมีแม่หรือลูกสาว การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพ (qualitative content analysis)

ผลการศึกษา พบว่า ผู้หญิงในรุ่นที่แตกต่างกัน (รุ่นย่า-ยาย รุ่นแม่และรุ่นลูกสาว) อธิบายประสบการณ์การสมรสแตกต่างกัน ผู้หญิงรุ่นย่า-ยายอธิบายการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวว่าเป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวเนื่องจากเป็นการถูกบังคับโดยผู้ปกครอง การปฏิเสธการสมรสไม่ใช่ทางเลือกสำหรับผู้หญิงในรุ่นนี้เนื่องจากลูกสาวได้รับการสั่งสอนให้เชื่อฟังผู้ปกครอง  และผู้ปกครองมีความกังวลว่าลูกสาวจะอับอายหากมีอายุแล้วยังไม่ได้สมรส สำหรับผู้หญิงรุ่นแม่ การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมีทั้งความกลัวและความสุขคละเคล้ากัน โดยความกลัวดังกล่าวเป็นความกลัวที่จะต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิมไปยังบ้านของคู่สมรส ในขณะที่ก็มีความตื่นเต้นที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ในทางกลับกัน ผู้หญิงรุ่นลูกสาวมีความมั่นใจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการสมรสซึ่งเป็นการตัดสินใจด้วยตนเองที่เรียนรู้จากรุ่นย่า-ยายและรุ่นแม่ อันเป็นผลมาจากบรรทัดฐานทางสังคมที่มีการหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก

ในด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการสมรสในวัยเด็กตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิง พบว่า ทางเลือกในการหางานทำของผู้หญิงถูกจำกัด โดยในขณะที่ผู้หญิงรุ่นแม่สามารถสืบทอดอาชีพจากผู้หญิงรุ่นย่า-ยายได้ ผู้หญิงรุ่นลูกสาวกลับไม่มีงานทำหลังจากการคลอดบุตร โดยเมื่อพิจารณาระดับการศึกษา พบว่า ผู้หญิงรุ่นย่า-ยายไม่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเส้นทางการเข้าสู่การศึกษาในระบบโรงเรียนไม่ใช่ทางเลือกสำหรับผู้หญิงในขณะนั้น ในขณะที่ผู้หญิงรุ่นแม่มีระดับการศึกษาสูงสุดเทียบเท่าระดับประถมศึกษา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของอินโดนีเซียในขณะนั้น ในทางกลับกัน ผู้หญิงรุ่นลูกสาวมีระดับการศึกษาสูงสุด (เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงรุ่นอื่นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะนโยบายการศึกษาภาคบังคับของอินโดนีเซีย

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงที่สมรสในวัยเด็กไม่สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้ ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับระดับการศึกษาและการมีบุตรในวัยเด็กที่เป็นอุปสรรคต่อการหางานทำ การศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม (equal education access) โดยแม้ว่าการศึกษาภาคบังคับในอินโดนีเซียจะกำหนดให้ชาวอินโดนีเซียทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่การเข้าสู่ระบบการศึกษาย่อมมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากผู้ปกครองยังต้องจ่ายค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และค่าเดินทาง การเข้าถึงการศึกษาในระบบโรงเรียนของผู้หญิงเป็นการป้องกันการสมรสในวัยเด็ก ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจสังคมในช่วงชีวิตต่อไปได้