อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น! ศาลฎีกายืนคุก 22 จำเลย คดียูฟันลวงลงทุน 12,265 ปี ชดใช้ 356 ล้าน

อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น! ศาลฎีกายืนคุก 22 จำเลย คดียูฟันลวงลงทุน 12,265 ปี ชดใช้ 356 ล้าน





ad1

อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น! ศาลฎีกายืนจำคุก 22 จำเลย คดียูฟัน หลอกลงทุน 12,265 ปี ร่วมชดใช้ 356 ล้าน ให้ผู้เสียหาย 2,451 คน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 ที่ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันสโตร์ รวม 7 สำนวน ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 และผู้เสียหาย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า แม่ข่ายยูฟันสโตร์, นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือ เกย์นที นักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศ กับพวกร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-43

ความผิดฐาน ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2556, พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบ ตรง 2545, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

กรณีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึง 18 มิถุนายน 2558 บริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด ชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการ ประกอบธุรกิจน้ำผลไม้และสมุนไพรกับเครื่องสำอาง ทำให้หลงเชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย แต่กลับหลอกลวงให้ร่วมลงทุน โดยจำเลยให้การปฏิเสธ

การนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ จำเลยที่ 29 ไม่มา แต่ศาลก็อ่านคำพิพากษา โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากการที่จำเลยได้ยื่นฎีกาโดยให้เหตุผลว่าคดีนี้ไม่มีผู้เสียหายไปร้องทุกข์ กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เนื่องจากยังไม่มีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของบริษัทยูฟัน

แต่คดีนี้ทาง สคบ.ตรวจสอบทราบว่าบริษัทยูฟัน ไม่ได้ประกอบกิจการธุรกิจขายตรงแต่อย่างใด จึงให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี จึงถือว่าพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลยการสอบสวนในคดีนี้จึงไม่ชอบโดยกฎหมายนั้น ศาลเห็นว่าแม้ว่าคดีนี้จะไม่มีผู้เสียหายไปร้องทุกข์ก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีความผิดเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากสคบ.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย

ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าบริษัทยูฟันมีพฤติกรรมกระทำความผิดมิชอบโดยกฎหมาย จึงมีอำนาจแจ้งความดำเนินคดี การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบโดยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยในกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น

สำหรับพฤติการณ์ของบริษัทยูฟันที่ชักชวนประชาชนมาร่วมลงทุน และให้ความเชื่อมั่นถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ ในลักษณะของการลงทุนยูโทเค่น มีการให้ค่าตอบแทนกับผู้ที่ชักชวนให้ผู้อื่นมาลงทุนด้วย อีกทั้งยังพบว่าทำธุรกรรมทางการเงิน โอนเงินจำนวนมากหลายรายการ ให้จำเลยหลายราย

โดยมีนายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการหลัก จัดการบรรยายชักชวนประชาชนให้มาร่วมลงทุน มีหลักฐานเป็นภาพถ่าย และคำให้การของผู้ลงทุนหลายรายให้การสอดคล้องกัน ทำให้เชื่อได้ว่ากระทำผิดจริง การที่นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่เป็นผู้บริหารของบริษัทยูฟันรายอื่น ให้เหตุผลฎีกาว่ายังไม่มีความผิดเกิดขึ้น จึงฟังไม่ขึ้น

อีกทั้งฎีกาของจำเลยที่เหลือในความผิดต่างๆ นั้น ศาลฟังไม่ขึ้น จึงไม่รับวินิจฉัย และเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์

ส่วนจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในบทลงโทษในคดีอาญา ส่วนที่จำเลยยื่นฎีกาสู้คดี ศาลเห็นว่าฟังไม่ขึ้น

ส่วนค่าเสียหายทางแพ่ง ที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้คิดอัตราดอกเบี้ยใหม่จากร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี ตามกฎหมายใหม่

สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่านายอภิชณัฏฐ์ จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำงานเป็นขั้นตอน ชักชวนให้ผู้เสียหายมาร่วมลงทุนการประกอบธุรกิจของบริษัทยูฟันฯไม่ได้เน้นการจำหน่ายสินค้าขายตรงตามที่แจ้งไว้ แต่กลับเชิญชวนให้ลงทุนยูโทเคน อ้างว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยไปอย่างต่อเนื่อง หากผู้ลงทุนหาสมาชิกใหม่เพิ่มได้จะได้รับค่า ทำให้ได้รับความเสียหาย

ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาลงโทษจำเลย 22 คน โดย จำเลยที่ 1, 2, 4, 6, 7, 11, 12 และ 13 มีความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นฉ้อโกงประชาชนฯ จำคุก 2,451 กระทง กระทงละ 5 ปี รวม 12,255 ปี และความผิดตาม พ.ร.บ.องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯอีกคนละ 10 ปี รวมจำคุกจำเลยเป็นเวลา 12,265 ปี

แต่ตามกฎหมายจำคุกได้เพียง20 ปี และให้จำเลยทั้ง 22 คนร่วมกันชดใช้เงิน 356,211,209 บาท ให้ผู้เสียหาย 2,451 คน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ริบเงินสดของกลาง กับให้จ่ายสินบนและเงินรางวัลนำจับให้กับผู้ชี้เบาะแส ร้อยละ 25 ของค่าปรับที่จำเลยที่ 42 ต้องชำระ และยกฟ้องจำเลยที่เหลืออีก 21 คน ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยทั้ง 22 คน คือจำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6, 7, 11, 12, 13, 15, 16, 17, 19, 22, 23, 27, 29, 31, 36, 37, 40, 42 ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษยื่นอุทธรณ์

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลย 11 คน คือ จำเลยที่ 15, 16, 17, 19, 22, 23, 29, 31, 36, 37 และ 40 และลงโทษจำเลย 32 คน โดยให้จำเลย 1, 2, 6, 7 และ 11 จำคุกคนละ 20 ปี และให้ยกคำขอ 15, 16, 17, 19, 22, 23, 29, 31, 36, 37 และ 40 ร่วมกันคืนเงินที่กู้ยืม และฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น