ซื้อบ้าน (จากการขายทอดตลาด) แล้วได้ความตาย

ซื้อบ้าน (จากการขายทอดตลาด) แล้วได้ความตาย





ad1

ซื้อบ้าน (จากการขายทอดตลาด) แล้วได้ความตาย *

​​สืบเนื่องจากข่าว “ลุงคนหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ซื้อบ้านของลุงมาจากการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดีแล้วเข้าไปทวงถามให้ลุงออกจากบ้านหลังดังกล่าวจนถึงแก่ความตาย จนเกิดกระแสวิพากวิจารณ์ ในวงกว้างว่า

- ทำไม ? ผู้ซื้อบ้านมาจากการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดีแล้ว  ผู้ซื้อจะต้องไปดำเนินการขับไล่ให้เจ้าของเดิมซึ่งยังไม่ยอมออกไปจากบ้าน ทั้งที่ผู้ซื้อได้ซื้อและโอนกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวมาแล้วจากการขายทอดตลาด
- เป็นหน้าที่ของ “ผู้ซื้อ” หรือ “ ผู้ขาย” หรือ “กรมบังคับคดี” กันแน่ที่จะต้องไป   ดำเนินการดังกล่าว ?

​​เพื่อให้เข้าใจในข้อกฎหมายในเรื่องดังกล่าว

- กรณีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้าน : ใครก็ตามที่อยากจะมีบ้านและที่ดินหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หากมีเงินไม่พอ ก็จะต้องไป“ขอกู้ยืมเงิน” จาก ธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน โดยธนาคารฯ เมื่อให้“ผู้กู้”กู้ยืมเงินแล้ว ก็จะต้องให้ “ผู้กู้” หาหลักประกันมาเป็นประกันหรือหาหลักทรัพย์มาจดทะเบียนจำนองไว้เป็นหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น “ บ้านและที่ดิน”ที่ผู้กู้ประสงค์จะไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าวนั่นเอง

​​ผู้ซื้อ ก็จะตกเป็น “ลูกหนี้” มีหน้าที่ต้องผ่อนชำระเงินตามจำนวนและเงื่อนไขที่ตกลงกันตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว  และหากผ่อนชำระหนี้เงินกู้หมดตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ตกลงกันแล้ว  ธนาคาร หรือสถาบันการเงินก็จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดิน (ไถ่ถอนจำนอง) ให้ตกเป็นของ        ” ผู้กู้”หรือลูกหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว

​​แต่ในทางตรงข้าม ถ้า “ผู้กู้”(ลูกหนี้) ไม่ได้ผ่อนชำระเงินตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ตามสัญญากู้ยืมเงิน โดยมีการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ (โดยไม่ได้รับการยกเว้น หรือผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษ) เช่นไม่ได้ผ่อนชำระติดต่อกันเป็นจำนวนสามงวด หรือติดต่อไม่ได้ ขาดการติดต่อ เป็นต้น ก็อาจถูก ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ทวงถาม (โนติส) ให้ชำระหนี้เงินกู้ บอกเลิกสัญญา และฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดและค่าทวงถาม(หากมี) และบังคับจำนอง (หากมีหลักทรัพย์จดทะเบียนจำนอง)  หรือยึดทรัพย์สินอื่น เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้  

​​การขายทอดตลาโดย “กรมบังคับคดี”นั้น ก่อนนำทรัพย์ที่ยึดหรือทรัพย์ที่จำนองดังกล่าวออกขายทอดตลาด จะมีการประกาศกำหนดทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด  วันเวลาและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะซื้อทรัพย์ที่มีการขายทอดตลาดดังกล่าวเข้ามาสู้ราคากัน (รวมถึงลูกหนี้เองอาจเข้าสู้ราคาเอง หรือ ใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคา) โดยผู้สู้ราคา ที่เสนอราคาสูงสุด จะเป็น     ผู้ชนะการขายทอดตลาดในทรัพย์นั้นนั้น  ซึ่งผู้ชนะราคามีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินตามจำนวนที่ได้เสนอราคาจนชนะการขายทอดตลาดดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่กรมบังคับคดีกำหนด

​​   หากผู้เสนอราคาที่ชนะการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว ไม่ชำระเงินตามจำนวนที่ชะการสู้ราคา และตามกำหนดเวลาที่กรมบังคับคดีกำหนด ก็อาจถูกกรมบังคับคดี ฟ้องร้องให้ชำระเงินตามจำนวนที่เสนอราคาจนชนะการขายทอดตลาด (ครั้งแรก) และหากผู้ชนะราคาดังกล่าวยังคงไม่ยอมชำระเงิน จนกระทั่งกรมบังคับคดีต้องนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดใหม่อีกครั้ง ในครั้งหลังนี้ หากขายทอดตลาดใหม่แล้วกลับได้เงินไม่เท่ากับ (หรือน้อยกว่า) จำนวนเงินในครั้งแรก ผู้ชนะการขายทอดตลาดคนดังกล่าวก็จะต้องรับผิดชดใช้เงินตามจำนวนที่เกิดความเสียหายดังกล่าว

- กรณีซื้อบ้านจาการขายของโครงการจัดสรร หรือผู้ขายทั่วไปแล้วถูกรอนสิทธิ : ​​​ตามปกติ การซื้อทรัพย์(รวมถึงบ้านและที่ดินด้วย ) หากเกิดการรอนสิทธิ หรือมีผู้มากระทบสิทธิ ทำให้ ผู้ซื้อ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ หรือใช้สอยทรัพย์ที่ซื้อ  ผู้ขาย มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำให้ ผู้ซื้อ ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ( ส่งมอบกรรมสิทธิ์) โดยปราศจากการรบกวนสิทธิ หรือรอนสิทธิของผู้อื่น

 

- แต่ถ้าเป็นกรณี  ซื้อบ้านจากการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดีแล้ว       เจ้าของเดิมไม่ยอมย้ายออกไป ผู้ซื้อจะต้องทำอย่างไร ?

        ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๓๓๔ ที่แก้ไขใหม่

         มาตรา ๓๓๔ เมื่อ “ เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ (หมายถึงผู้ซื้อที่ได้รับโอนอสังหาริมทรัพย์จากเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งก็คือ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดีนั่นเอง) หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวาร ((บริวารหมายถึงผู้ที่อาศัยอยู่โดยอาศัยสิทธิของลูกหนี้คามคำพิพากษานั้น) อยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น

​​ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อ ศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ ออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๗๑ มาตรา ๒๗๘วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๕๑ มาตรา ๓๕๒ มาตรา ๓๕๓ วรรคหนึ่ง () และวรรคสอง มาตรา ๓๕๔ มาตรา ๓๖๑ มาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓ และมาตรา ๓๖๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

​​ทั้งนี้ ให้ถือว่า ผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว

​​    กฎหมายมาตราข้างต้นเป็นกฎหมายที่ถูกแก้ไขใหม่ ( ปี๒๕๖๐) เพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดให้สามารถบังคับคดีกับ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารได้ทันทีไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่  ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา สามารถร้องขอศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่ทรัพย์ตั้งอยู่บังคับคดีขับไล่ได้ทันที

​​แต่ถ้ามีบุคคลอื่นนอกเหนือจากนี้ (นอกเหนือจากบริวาร) อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อได้จากการขายทอดตลาด ผู้ซื้อจะต้องดำเนินการตามปกติ คือ ฟ้องคดีแพ่งจนมีคำพิพากษาให้ชนะคดี (ซึ่งก็ต้องใช้เวลาตามที่กล่าวมาแล้ว) แล้วจึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี”  ขับไล่ได้

 กฎหมายมาตรานี้คุ้มครองเฉพาะผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดีเท่านั้น

​​แต่ถ้าผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ด้วยวิธีอื่น(ซึ่งไม่ใช่จากการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี) ต้องดำเนิน ฟ้องคดีแพ่งขับไล่ตามปกติ ไม่สามารถขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เสมือนว่าตนเองเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้

​​กฎหมายให้ความ คุ้มครองเฉพาะตัวผู้ซื้อทรัพย์ จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น  แต่ถ้าเป็น ผู้ที่รับโอนทรัพย์นั้นไปจากผู้ซื้อแล้ว ไม่มีสิทธิ ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ได้ทันที   แต่จะต้องไป ฟ้องเป็นคดีใหม่ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๒๗๘ / ๒๕๕๖, ๑๒๕๗๓ / ๒๕๕๖

​ ​การขอให้ศาลออก หมายบังคับคดี ตามมาตรา ๓๓๔ นั้นสามารถทำได้แต่เพียง ขับไล่ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ เท่านั้น ผู้ซื้อไม่สามารถเรียกค่าเสียหายได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๙๗ /๒๕๕๕  หากเกิดความเสียหาย ผู้ซื้อต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เพื่อเรียกค่าเสียหาย

                 การขอให้บังคับคดีตามมาตรา ๓๓๔ ถือเป็น การบังคับคดีต่อเนื่อง จากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ ไม่ใช่ เป็นการบังคับในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดิม จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๗๔ ที่ต้องบังคับคดีภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ดังนั้น ผู้ซื้อทรัพย์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับคดีขับไล่ได้แม้จะเลยกำหนดเวลา ๑๐ ปีไปแล้ว ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๐๒/๒๕๕๕ และ ๖๗๒๔/๒๕๕๔

​​การซื้อบ้านจากการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี นั้น เป็นกรณี “บังคับขาย หรือ บังคับโอนกรรมสิทธิ์  โดยเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้แล้ว  ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งเป็น “เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็จะอาศัย “คำพิพากษาของศาล เป็นฐานอำนาจในการไปยึดบ้านและที่ดินหลักประกันเพื่อนำออกขายทอดตลาด นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสำเร็จมาชำระคืนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

​​เมื่อการขายทอดตลาดสำเร็จ โดยผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจนกระทั้งมีการเคาะราคา จะเป็น         ผู้ชนะราคาผู้ชนะราคามีหน้าที่จะต้องชำระเงินตามจำนวนที่ชนะราคาดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่กรมบังคับคดีกำหนด

​​ หลังจากชำระเงินครบถ้วนแล้ เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีจะมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานกรมที่ดิน พร้อมมอบเอกสารสิทธิ์และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการโอนกรรมสิทธิ์ ให้ผู้ชนะประมูลดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์บ้านที่ประมูลจากกรมบังคับคดี ณ สำนักงานที่ดินด้วยตัวเองต่อไป

 

      แล้วการซื้อบ้านจากการขายทอดตลาด จะมีความแตกต่างจาก การซื้อบ้านตามโครงการจัดสรร หรือซื้อบ้านจากผู้ขายทั่วไปอย่างไร ?

 

​​การซื้อขายบ้านตามโครงการจัดสรร หรือผู้ขายทั่วไปนั้น ผู้ขายหรือเจ้าของโครงการจะต้องรับผิดชอบต่อผู้ซื้อ โดยผู้ขายจะต้องส่งมอบบ้านให้แก่ผู้ซื้อ โดยปราศจากการรอนสิทธิ ปราศจากผู้บุกรุกผู้แย่งใช้ประโยชน์ หากมีผู้รอนสิทธิ ผู้ขายจะต้องดำเนินการแก้ไขการถูกรอนสิทธิดังกล่าวให้หมดสิ้นแล้วส่งมอบทรัพย์ที่ปราศจากการรอนสิทธิให้แก่ผู้ซื้อ

​​อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านจากการขายทอดตลาด ผู้ซื้อ (ผู้ชนะราคา) มีความเสี่ยงภัย :

​​การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดีนั้นบางครั้งผู้เข้าสู้ราคา ก็อาจจะไม่ได้เห็ทรัพย์ที่ประกาศขายทอดตลาดจริง ทั้งนี้ อาจจะไม่ได้เข้าไปดูทรัพย์นั้นก่อนว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังดังกล่าวจะยังคงมีใครพักอาศัยอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าวหรือไม่ หรือทรัพย์สิน เฟอนิเจอร์ภายในบ้าน ดังกล่าวยังความสมบูรณ์ ครบถ้วนตามภาพถ่ายที่ปรากฏตามประกาศขายทอดตลาดหรือไม่   ดังนั้น ผู้เข้า สู้ราคาจากการขายทอดตลาดจะต้องเสี่ยงภัย หากทรัพย์ที่จะซื้อจาการขายทอดตลาดมาได้แล้ว  ไม่ได้เป็นไปตามภาพถ่ายที่แนบท้ายประกาศขายทอดตลาด หรือ ยังคงมีผู้บุกรุกพักอาศัย หรือมีผู้รอนสิทธิ

ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี โดยได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์ และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินแล้ว หากต่อมาพบว่า  เจ้าของเดิม และบริวารยังคงพักอาศัยอยู่ในทรัพย์ดังกล่าว ผู้ซื้อสามารถ ร้องขอต่อศาล พื่อขอให้ศาลมีหมายบังคับคดีขับไล่เจ้าของเดิมและบริวารออกจากทรัพย์ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่

      แต่หากเจ้าของเดิมและบริวาร ยังคงไม่ย้ายออก ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดสามารถยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานศาล ขอให้ศาล ออกหมายจับเจ้าของเดิมและบริวาร  อันเป็นมาตรการบังคับทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยกรมบังคับคดี​​

​​มีคำถามว่า เหตุใด “กรมบังคับคดี” ในฐานะเป็นผู้ขายทอดตลาด จึงไม่เข้าไปจัดการขับไล่ หรือดำเนินการให้ ผู้บุกรุก หรือผู้รอนสิทธิออกไปจากทรัพย์ก่อนที่จะนำทรัพย์ออกขายทอดตลาด

​​กรมบังคับคดี หรือ เจ้าพนักงานบังคับคดี มีหน้าที่ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยคู่ความในคดีจักต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง เช่น เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจักต้อง ยื่นคำร้องขอให้ออกคำบังคับ และ            ยื่นคำร้องขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจากนั้นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้อง นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปบังคับคดี ยึดหรืออายัดทรัพย์ออกขายทอดตลาด

​​ส่วน กระบวนขายทอดตลานั้น  เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือ กรมบังคับคดี ก็จะจัดให้มีการขายทอดตลาด จัดให้มีประกาศขายทอดตลาด จัดให้มีผู้เข้าสู้ราคา มีการเคาะราคา และประกาศผู้ชนะการสู้ราคา (ชนะการขายทอดตลาด) นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด มาส่งมอบให้แก่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือผู้ขายทอดตลาด  หากมีเงินเหลือ (จากการขายทอดตลาด) ได้เงินมากกว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษา) ให้คืนแก่ เจ้าของทรัพย์ที่ถูกบังคับขายทอดตลาด หากขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้อาจต้องรับผิดชอบในจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ หรือยังไม่พอ

    จะเห็นได้ว่าการขายทอดตลาด นั้น กรมบังคับคดีจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดให้ได้รับราคาที่เป็นธรรมทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทอดตลาดเท่านั้น กรมบังคับคดี หรือ เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่มีอำนาจ หรือหน้าที่ไปขับไล่ หรือบังคับให้ ผู้บุกรุก หรือผู้รอนสิทธิออกไปจากทรัพย์ที่ขายทอดตลาด เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาล​​

​​การซื้อบ้าน (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) จากการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี หากมีผู้บุกรุก ผู้รอนสิทธิ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด จะต้องใช้มาตรการตามกฎหมายทางศาลโดยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากบ้านและที่ดินที่ตนได้ซื้อมาจากการขายทอดตลาด ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพืให้ศาลมีคำสั่ง หรือคำบังคับให้ ลูกหนี้ รวมถึงบริวาร ผู้บุกรุก   ผู้รอนสิทธิ ออกไปจากทรัพย์ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด  รวมถึงการจับกุม  หากลูกหนี้หรือบริวาร    ฝ่าฝืนไม่ยอมออกไปจากทรัพย์ที่มีการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี แล้ว

​​ดังนั้น หากผู้ซื้อประสงค์จะซื้อบ้านจากการขายทอดตลาด  ผู้ซื้อควรจะต้องรู้ว่า หากมีผู้บุกรุก ผู้รอนสิทธิ หรือเจ้าของเดิมดื้อแพ่งไม่ยอมออกไปจากทรัพย์ที่ขายทอดตลาด ผู้ซื้อควรจะต้องทำอย่างไร เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุที่ไม่อาจคาดคิดได้ดังเช่นที่เป็นข่าวอีก

นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์

อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

อดีต รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สอง)ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยน สภาผู้แทนราษฎร