วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก และมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางแห่งประเทศไทยร่วมเตรียมความพร้อมต้อนรับผู้นำโลกมุสลิม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก และมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางแห่งประเทศไทยร่วมเตรียมความพร้อมต้อนรับผู้นำโลกมุสลิม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์





ad1

การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting 2022) ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้นำระดับโลกจะมาร่วมหารือด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ การต้อนรับแขกระดับสูงและผู้นำระดับโลกจึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน APEC 2022


วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก และมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางแห่งประเทศไทยจับมือร่วมเป็นเจ้าภาพในการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้นำประเทศมุสลิมที่จะมาร่วมประชุม APEC 2022 ในครั้งนี้ โดยมีศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ (Bangkok Arabic Language Center) มหาวิทยาลัยเกริก ขับเคลื่อนในการคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถด้านภาษาอาหรับจากทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายต่าง ๆ ที่สำคัญ เนื่องจากมีผู้นำจากกลุ่มประเทศมุสลิมเข้ามาร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก และต้องการผู้ที่สามารถสื่อสารได้ทั้ง 4 ภาษา ไม่ว่าจะเป็นไทย อังกฤษ อาหรับ และมาลายู ซึ่งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก นำโดยอาจารย์กัปตัน อำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยเกริก อาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหารวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และอาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ หัวหน้าศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ อาจารย์นันทวัฒน์ มะลา หัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และนายมูฮำหมัด อัสซูรีฮี อัลฮารบี ซึ่งเป็นผู้แทนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจอิสลาม และภาษาอาหรับ ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพร่วมในต้อนรับคณะผู้แทนระดับสูงจากประเทศมุสลิม และร่วมการคัดเลือกบุคลากรที่มีศักยภาพในด้านภาษาดังกล่าว

ทั้งนี้ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้คัดเลือกตัวแทนนักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก สาขาวิขาบริหารธุรกิจอิสลาม เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจสำคัญในการต้อนรับผู้นำจากโลกมุสลิมด้วย โดย ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ได้ให้โอวาทตัวแทนนักศึกษาก่อนไปปฏิบัติหน้าที่ต้อนรับแขกจากประเทศที่มาร่วมประชุมว่า “การจัดประชุม APEC 2022 ในครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับนานาชาติที่มีความสำคัญ และเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ยาก การที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ต้อนรับแขกสำคัญระดับโลกนั้น ต้องมีวินัย มีมารยาท ยิ้มแย้มแจ่มใส เอาใจใส่ทุกอิริยาบถ เข้าใจทั้งภาษาพูดและภาษากาย เพื่อให้แขกที่มาเยือนเกิดความประทับใจ และจดจำว่าการต้อนรับของประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ต้องร่วมเป็นต้นแบบที่ดีและร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ”

นอกเหนือจากความพร้อมในด้านบุคลากรด้านภาษาแล้ว การเตรียมความความด้านสถานที่ถือว่าเป็นความสำคัญไม่แพ้กัน โดยนายสามารถ มะลูลีม ประธานมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายประสิทธิ์ รักสลาม เลขาธิการมูลนิธิฯ นายสุรินทร์  หวังเจริญ กรรมการมูลนิธิฯ นายพิษณุ รักษาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิฯ และนายธนเทพ ภู่มาาลี พร้อมทั้งทีมงานในส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมจัดระเบียบแนวทางในการรองรับผู้นำจากกลุ่มประเทศมุสลิม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยร่วมจัดตกแต่งห้องละหมาดที่สวยงามที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของความเป็นอิสลามได้อย่างลงตัวและสมเกียรติกับแขกระดับสูง เพื่อให้พร้อมสำหรับการทำพิธีละหมาดในช่วงระหว่างวัน มีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ชุดละหมาด ที่อาบน้ำละหมาด และมีคณาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก อำนวยความสะดวก และเป็นอิหม่ามนำละหมาดในช่วงเวลาดังกล่าว

​การเตรียมความพร้อมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีมุสลิมไม่ถึงร้อยละ 10 ซึ่งในมุมมองของประเทศมุสลิมแล้ว การเตรียมความพร้อมที่เข้าใจถึงวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของอิสลามนั้นอาจส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับคนทุกชาติ ศาสนา และเข้าใจวัฒนธรรม การเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการแสดงการต้อนรับอย่างอบอุ่น และเป็นมิตรไมตรีกับทุกประเทศอย่างแท้จริง ที่สำคัญการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียจะมาเป็นแขกพิเศษของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียหลังจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย และเป็นโอกาสสำคัญที่จะกระชับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือทางการค้า การลงทุนระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบียที่กำลังขยายตัวในหลายมิติ