น่านหนุนเกษตรกรสร้างอาชีพจากไก่ประดู่หางดำ สู่วัฒนธรรมอาหารสากลด้วย Nan gastronomy

น่านหนุนเกษตรกรสร้างอาชีพจากไก่ประดู่หางดำ สู่วัฒนธรรมอาหารสากลด้วย Nan gastronomy





ad1

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิด งานมหัศจรรย์ไก่พื้นเมืองน่าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยสินค้าท้องถิ่น สู่วัฒนธรรมอาหารสากล ด้วย Nan gastronomy tourism ที่ แสงทองรีสอร์ท อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือของกลุ่มเกษตรกร กับ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดน่าน บริษัทประชารัฐรักสามัคคีน่านจำกัด และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม้โจ้

ภายใต้ชุดโครงการวิจัยการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเชิงพาณิชย์ ร่วมกับร้านอาหารโดยเชฟที่มีชื่อเสียงในจังหวัดน่านและเชียงใหม่ เพื่อยกระดับไก่พื้นเมืองไทยสู่สัตว์เศรษฐกิจ และยกระดับ กระจายรายได้สู่เกษตรกรในภาคเหนือของประเทศไทย โดยนำจุดเด่นของจังหวัดน่านด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม วัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลายผสมผสานกับไก่พื้นเมืองอย่างไก่ประดู่หางดำของจังหวัดน่านไปสู่ Nan gastronomy tourism ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งด้านการท่องเที่ยวและอาชีพการเลี้ยงไก่พื้นเมือง นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดน่าน

ผศ.น.สพ.ดร.สุวิทย์ โชตินันท์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย การเส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเชิงพาณิชย์ เปิดเผยว่าโครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือน จุดเด่นของไก่ประดู่หางดำคือโตเร็วกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เนื้อแน่นนุ่ม แต่ไม่เหนียว เนื้อมีไขมัน ครอเลสเตอรอลและกรดยูริคต่ำ เนื้อไก่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย จึงทำให้ไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเป็นที่นิยมของผู้บริโภค

ปัจจุบันทางโครงการได้ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพในระบบฟาร์มแบบปล่อยอิสระที่มีมาตรฐาน มีวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำอำเภอทุ่งช้าง และวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสินค้าเกษตรฮอมฮัก อำเภอเชียงกลาง ซึ่งมีสมาชิกเกษตรกรรวมกว่า 50 รายได้มีการเลี้ยงไก่เป็นอาชีพทั้งหลักและอาชีพเสริม สามารถผลิตไก่พื้นเมืองได้กว่า 1 พันตัวต่อสัปดาห์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร 2 พัน – 1 หมื่นบาทต่อเดือน

ขณะที่ นายชาญชัย ลิ้มสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดน่าน กล่าวเพิ่มเติมว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจังหวัดน่าน มีความโดดเด่นในด้านอาหารล้านนา และมีร้านอาหารที่มีศักยภาพที่มีเชฟที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศจำนวนมาก ไก่พื้นเมืองจัดเป็นทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมเช่นกัน ดังนั้นหากนำเนื้อไก่พื้นเมือง โดยเฉพาะ ไก่ประดู่หางดำ ที่มีลักษณะเด่น ไขมัน ครอเลสเตอรอลและกรดยูริคต่ำ

อีกทั้งยังมีคลอลาเจน ร่วมกับวัตถุดิบในท้องถิ่น มารังสรรค์เป็นเมนูอาหารทั้งอาหารพื้นถิ่น และอาหารเชิงผสมผสานวัฒนธรรม (fusion food) โดยเชฟของร้านอาหารในจังหวัดน่านเอง และส่งเสริมให้เป็นเมนูที่โดดเด่นของแต่ละร้าน จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่จังหวัดน่าน ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดน่าน และทำให้จังหวัดน่านเป็นที่รับรู้และจดจำของนักท่องเที่ยวและอยากกลับมาเที่ยวอีกครั้ง

ทั้งนี้ภายในงาน ได้นำไก่ประดู่หางดำมาประกอบเป็นเมนูอาหารหลากหลายโดยเชพฝีมือดีจากร้านอาหารในจังหวัดน่าน ได้แก่ เชฟแอ้ จากแสงทองเทอเรส เชฟบ็อบ จากร้านแบมบูซี๊ด เชฟนนท์ จากร้าน โว้วล่า เชพแซค จากร้านน่านเนทีฟ และจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยเชฟอ้น กระทะเหล็ก จากร้านเลเลฟอง และเชพเดี่ยว จากเปอร์ติฟู คาเฟ่ ร่วมกันรังสรรค์เมนูจากไก่ประดู่หางดำ ทั้งอาหารคาว หวาน ให้ผู้ร่วมงานได้ลิ้มรส และนำไปเป็นเมนูเด่นประจำร้านอีกด้วย