ตลาดส่งออกวัวภาคใต้คึกคักยอดพุ่งขึ้น 3 เท่า-มาเลเซียสั่งซื้อ 1 แสนตัว/ปี


พัทลุง-“วัวบุญ” ปีนี้ราคาพุ่งขึ้น 3 เท่าตัว กลุ่มวิสาหกิจลังกาสุกะพัทลุงส่งออกเดือนละกว่า 2,000 ตัว ระบุให้พอกับความต้องการต้องมีแม่พันธุ์ไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัว มาเลเซียสั่งไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 100,000 ตัว / ปี มูลค่า กว่า 2,000 ล้านบาท เฉพาะ พัทลุง กว่า 100 ล้านบาท
นายวิรัตน์ รอดนวล ประธานกรรมการวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุง ประธานกรรมการบริษัท ลังกาสุกะฟาร์ม จำกัด ตลาดกลางประมูลซื้อขายโค กระบือ แพะ อ.กงหรา จ.พัทลุง เปิดเผยว่า โคกุรบานหรือวัวบุญ ทำพิธีทางศาสนาอิสลามหลังทำพิธีรายอฮัจญี ประจำปี และในปี 2565 นี้ เฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุง ยอดการขายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวจากความต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะยอดส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียระยะ 2 เดือนเศษไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว และยอดความต้องการจะไปสิ้นสุดลงต้นสัปดาห์เดือนกรกฎาคม 2565 นี้
โคกุรบานหรือวัวบุญ ในประเทศมาเลเซีย จะสั่งซื้อจากประเทศไทย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว โดยราคาเฉลี่ยประมาณ 25,000 บาท / ตัว มีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท จึงต้องระดมส่งออกโคกุรบานหรือวัวบุญจากไทยตอนบน ตอนกลาง และจากประเทศเมียนมา เป็นจำนวนมาก เพราะทางภาคใต้มีโคกุรบานหรือวัวบุญไม่พอ
“สำหรับ จ.พัทลุง ก็มีการส่งออกกว่า 5,000 ตัว เพราะมีโคกุรบานหรือวัวบุญ ซึ่งเป็นโคพื้นบ้านไม่พอ สำหรับเงินหมุนสะพัดในฤดูกาลนี้ 125 ล้านบาท”
โคขนาดทำกุรบานหรือวัวบุญในประเทศไม่พอ แต่ละปีจะต้องนำเข้ามาจากประเทศเมียนมาจำนวนมาก เพราะที่มีการเลี้ยงอยู่ยังไม่พอ ซึ่งจะให้พอสำหรับการใช้ทำพิธีในประเทศและส่งออก อย่างน้อยจะต้องมีแม่พันธุ์ไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัว
สำหรับเกษตรกรหากเลี้ยงเฉพาะโคพื้นบ้านเพื่อทำพิธีกรุบานอย่างมีศักยภาพจะประกอบอาชีพที่ยั่งยืนได้ เพราะโคกุรบานหรือวัวบุญ สำหรับชาวมุสลิมทั่วโลกมีความต้องการเป็นประจำ
“ส่วนราคาโคมีชีวิตขณะนี้ 100 บาทต้น / กก.จะเสถียรตลอดมา”
อัสวิน ภักฆวรรณ ผู้สื่อข่าวจังหวัดพัทลุง รายงาน