อพท.6 ร่วมกับสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนดึงศักยภาพอาหารท้องถิ่นเมืองน่าน

อพท.6 ร่วมกับสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนดึงศักยภาพอาหารท้องถิ่นเมืองน่าน





ad1

น่าน-อพท.6   ร่วมกับ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน  ดึงศักยภาพอาหารท้องถิ่นเมืองน่าน  พัฒนาจานเสิร์ฟและเรื่องเล่า ยกระดับสู่ตลาดท่องเที่ยวเชิงอาหาร เตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ร่วมกับ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเชื่อมโยงสู่ตลาดท่องเที่ยวคุณภาพของชุมชนในจังหวัดน่าน โดยดึงศักยภาพอาหารท้องถิ่นเมืองน่าน 10 เมนู จาก 4 ชุมชนพื้นที่พิเศษ ได้แก่ ชุมชนตำบลในเวียง  ชุมชนดอนมูล  ชุมชนบ่อสวกและชุมชนนาซาว พัฒนาการจัดจานเสิร์ฟและการเล่าเรื่องราวของวัตถุดิบ ขั้นตอนการปรุง และความเป็นมาของอาหารพื้นถิ่นให้น่าสนใจเพื่อนำเสนอเป็นความรู้ที่สนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างการจดจำอาหารเมืองน่าน

นายสุรชัย บุญก้ำ เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท.6  เล่าว่า กิจกรรมพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอาหารครั้งนี้ ได้นำอาหารพื้นเมือง 10 เมนู จาก 4 ชุมชนพื้นที่พิเศษอำเภอเมืองน่าน ได้แก่ ไข่งามงอน โฮงเจ้าฟองคำ  แกงสะนัด คุ้มเจ้าเมฆวดี  ห่อนึ่งหน่อไม้ใส่ปลีกล้วย  และ ขนมเกลือ จากชุมชนตำบลในเวียง   เมนู แกงอะยิอะเย๊าะ  ต้มตำยำจ้าว แชผัก บะหมี่ผัก ซุปปลาย่าง  ของชุมชนดอนมูล ตำบลดู่ใต้   เมนูส้มตำหน่อบงหวาน ชุมชนตำบลบ่อสวก  และ หลามปลานาซาว ของชุมชนนาซาว มาพัฒนายกระดับการจัดจานอาหารชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพ และเรื่องเล่าจานอร่อย  โดยนางสาววรรณวิภา ภานุมาต ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้นำ “เชฟบุ๊ค” นายบุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต  พิธีกรรายการทำอาหารสไตล์ฟิวชัน Foodwork ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมด้วยทีมผู้ช่วยเชฟ  เป็นวิทยากรพัฒนาเมนูอาหารท้องถิ่นเมืองน่าน  ซึ่งนอกจากการพัฒนาจานเสิร์ฟและการนำเสนอเรื่องราวอาหาร การตั้งราคาแล้ว ยังสอนเทคนิคการใช้สื่อโซเชียลเพื่อสร้างการสื่อสารและการขายสินค้าให้กับชุมชนด้วย

นางวาสนา มาศยะ ประธานกลุ่มชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลนาซาว  เปิดเผยว่า  กลุ่มนาซาว ยังไม่เคยได้รับการจัดอาหารเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างจริงจังมาก่อน หากเปรียบเทียบกับอีก 3 ชุมชน ถือว่าเป็นน้องใหม่สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร  ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้สมาชิกกลุ่มมีความรู้ ความเข้าใจ และเทคนิคต่างๆในการจัดจานและเล่าเรื่องราวของเมนูหลามปลานาซาวมากยิ่งขึ้น  โดยทีมเชฟ ให้ความสนใจเมนูหลามปลา ตั้งแต่วัตถุดิบและกระบวนการทำหลามปลา  โดยให้คำแนะนำการใช้กระบอกไม้ไผ่  ดอกไม้ ใบไม้ และพืชผักที่รับประทานได้ นำมาจัดตกแต่งจานอาหารจนสวยงามอย่างที่กลุ่มนาซาวไม่เคยได้ทำมาก่อน รวมทั้งการนำจุดเด่นของวัตถุดิบและเมนูหลามปลา มาเล่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจด้วย ทำให้สมาชิกกลุ่มมีการพัฒนาและมีความมั่นใจในการต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

นางศุภรดา กานดิศยากุล  รักษาการตำแหน่งรองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 กล่าวว่า  กิจกรรมดังกล่าว เพื่อพัฒนาศักยภาพกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้านอาหารให้เกิดมูลค่าเพิ่มและเชื่อมโยงสู่ตลาดท่องเที่ยวคุณภาพของชุมชนในพื้นที่พิเศษน่าน ให้เกิดทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวให้เกิดความน่าสนใจและตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงอาหาร ในพื้นที่พิเศษน่าน ให้มีความหลากหลาย สามารถนำเสนอวิถีชีวิตผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอาหารพื้นถิ่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาและเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

โดยมีเมนูที่มีศักยภาพและสามารถยกระดับเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวและได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหารของพื้นพิเศษเมืองเก่าน่าน โดยเมนูอาหารที่ได้รับการพัฒนาและมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นหลังจากสถานการณ์โรคโควิด 19   คลี่คลาย จะส่งผลให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงอาหารมากขึ้น รวมทั้งทางสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน  งานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism)  จะเชื่อมโยงกลุ่มนักท่องเที่ยวและเปิดการตลาดท่องเที่ยวเชิงอาหารให้กับชุมชนพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านด้วย

ระรินธร เพ็ชรเจริญ ผู้สื่อข่าวจังหวัดน่าน