รมว.ยุติธรรมเร่งคลอดกม.ป้องกันกระทำผิดซ้ำในคดีรุนแรง

รมว.ยุติธรรมเร่งคลอดกม.ป้องกันกระทำผิดซ้ำในคดีรุนแรง





ad1

ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรม เผย สมศักดิ์ หวังบังคับใช้กฎหมายป้องกันกระทำผิดซ้ำในคดีรุนแรงให้เร็วที่สุด มั่นใจช่วยแก้ปัญหาสร้างเกราะป้องกันให้สังคมและ ปชช.ได้ เหลือทบทวนรายมาตราอย่างรายละเอียดเสร็จทัน ก.พ.นี้ ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ได้ร่วมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ กับกรรมาธิการและผู้แทนของสำนักงานกิจการยุติธรรม กรมคุมประพฤติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย รมว.ยุติธรรม ต้องการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์เร็วที่สุดไว้ใช้เป็นบทบัญญัติในการป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม สร้างความปลอดภัยให้สังคม และแก้ไขปัญหาเพื่อลดการทําความผิดซ้ำ รวมถึงส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งอย่างเหมาะสม

 พันตำรวจโท พงษ์ธร เผยอีกว่า ล่าสุดที่ประชุมได้พิจารณาภาพรวม พ.ร.บ.ฯ ครบทั้งฉบับเรียบร้อยแล้ว ทั้งชื่อร่าง หลักการและเหตุผล คำปรารภ และพิจารณาร่างรายมาตรา ในหมวดที่ 3 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด (ร่างมาตรา 19 - ร่างมาตรา 21) หมวด 4 มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ (ร่างมาตรา 22 - ร่างมาตรา 27) หมวด 5 มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ (ร่างมาตรา 28 - ร่างมาตรา 36) หมวด 6 การคุมขังฉุกเฉิน (ร่างมาตรา 37 - ร่างมาตรา 41) หมวด 7 การอุทธรณ์ (ร่างมาตรา 42) และบทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 43)  สำหรับประเด็นข้อสังเกตที่สำคัญต่อการผลักดันร่างพระราชบัญญัติฯ เช่น เรื่องความเหมาะสมของระยะเวลาการใช้มาตรการตามร่างกฎหมาย (5 ปี หรือ 10 ปี) เรื่องการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ เช่น การห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด รวมถึงการห้ามประกอบอาชีพบางประการหรือไม่ เป็นต้น  เรื่องรายละเอียดของการใช้มาตรการทางการแพทย์ให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม  เรื่องมาตรการคุมขังฉุกเฉินปัจจัยที่จะใช้ในการพิจารณา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะกระทําความผิด และมีเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

 อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการพิจารณาทบทวนรายมาตราอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมมากที่สุด ซึ่งจะเร่งให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก่อนนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป