ม.เกริกขานรับฟื้นฟูสัมพันธ์ไทย-ซาอุ สร้างรับรู้องค์กรภาคใต้ฝั่งอันดามัน
ทันทีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยได้เข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ใน “ระดับปกติ” อย่างสมบูรณ์
ในวันที่ 26 - 28 มกราคม 2564 มหาวิทยาลัยเกริก นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี รองศาสตราจารย์ สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และดร.พัชราวดี ตรีชัย คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มอบนโยบาย ให้คณะรุดลงพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมี อาจารย์อำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริก อาจารย์ยิ่งศักดิ์ สิทธิยากรณ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ อาจารย์ ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม อาจารย์สราวุธ และซัน หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริการธุรกิจอิสลาม และอาจารย์อรวรรณ บุญมาเลิศ เลขานุการประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ดร.อภิวัฒน์ รักชาติ ผู้ประสานงานมหาวิทยาลัยเกริกภาคใต้ฝั่งอันดามัน
เพื่อประชุมหารือและทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ทางวิชาการ กับสถาบันการเงินอิสลามถึงโอกาสในการดึงองค์กร และเงินลงทุนจากประเทศซาอุดิอาระเบียให้มาทำการค้าการลงทุนในประเทศไทยสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น เนื่องจากการฟื้นความสัมพันธ์ไทยซาอุดิอาระเบีย โดยมีสหกรณ์เข้าร่วมประชุม 7 แห่งด้วยกัน ดังนี้ สหกรณ์อิสลามษะกอฟะฮ(กระบี่) สหกรณ์อิสลามตันมียะห์(กระบี่) สหกรณ์อิสลามบารอกะฮฺ(กระบี่) สหกรณ์นูรุลอิสลาม(กระบี่) สหกรณ์อัล-อิสลามียะฮ์(จังหวัดภูเก็ต) สหกรณ์อิสลามฮุซนี(ภูเก็ต) สหกรณ์อัลอิสลามอิบนูเอาฟ(จังหวัดสตูล) ซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนรวมกว่า 2,000 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับมุสลิมที่มีประชากรทั่วโลกมากกว่า 2,000 ล้านคน และประชากรมุสลิมในประเทศไทยมีประมาณ 10 % โดยมหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจอิสลาม ซึ่งประกอบด้วย 3 วิชาเอก คือ การเงินอิสลาม อุตสาหกรรมฮาลาล การจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ โดยสอดรับกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ 3 ด้าน 1) การท่องเที่ยวที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี 2) ด้านอาหาร ที่ไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมฮาลาลในการผลิตและพร้อมส่งออกให้ซาอุดิอาระเบีย 3) ด้านการค้าและการลงทุน ที่ซาอุดิอาระเบียส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ฝั่งอันดามันเพื่อสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ที่ประชาชนชาวไทยจะได้รับจากการคืนความสัมพันธ์ในครั้งนี้ให้สถาบันการศึกษาร่วมกันพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทย และร่วมผลักดันให้แรงงานไทยมีคุณภาพสร้างชื่อให้กับประเทศของเรา โดยมีสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีโรงเรียนกว่า 30 แห่ง นำโดย นายกอิสมาแอล ไร่ใหญ่ และอาจารย์ธียุทธ์ โสบุตร เลขานุการสมาคมฯ ให้ความสนใจในโอกาสและลงนามบันทึกข้อตกความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการร่วมกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้รับความสนใจจากมูลนิธิอาดามี โดย อาจารย์อัสนาวี มุคุระ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดกระบี่ ดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิฯ และอาจารย์อริส มุคุระ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอาดามีศึกษาวิทยา และอาจารย์ศุฟเฟียน อาแว ประธานมูลนิธิเอเชียเพื่อการศึกษาและพัฒนาสังคม ซึ่งดูแลอุปถัมภ์โรงเรียนในเครือ 5 แห่ง ที่มีบทความในงานด้านการพัฒนาการสังคมและการศึกษาในพื้นที่ฝั่งอันดามัน เข้าร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการในครั้งนี้ด้วย
ภายในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก นายชัยวุฒิ บัวทอง นายอำเภอเมืองกระบี่ ได้มอบหมายให้ นางณัฐธยาน์ ผาสุข ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองกระบี่ เป็นตัวแทนเข้าเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ ในพิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้
ก่อนเดินทางกลับมีโอกาสได้เข้าเยี่ยม นายยุโสบ หยั่งทะเล ผู้อำนวยการโรงเรียนมุสลิมวิทยาภูเก็ต และคณาจารย์ ซึ่งมีนักเรียนกว่า 2,000 คน และอาจารย์สมาพล และซัน ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามพัฒนาภูเก็ต หารือร่วมกันในการวางยุทธศาสตร์กำหนดทิศทางการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของนักเรียน และอาชีพ ให้สอดรับกับนโยบายการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับซาอุดิอาระเบีย เพื่อให้แรงงานไทยมีคุณภาพ และศักยภาพด้านฝีมือและภาษาอาหรับ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติของเราในดินแดนตะวันออกกลางอีกครั้ง