‘สาธิต’ เร่ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ให้เสร็จตามกรอบ เผื่อเกิดอุบัติเหตุการเมืองต้องเลือกตั้งใหม่ ย้ำ คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ชี้ กมธ.เห็นต่างเป็นสิทธิ
‘สาธิต’ เร่ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ให้เสร็จตามกรอบ


นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องการคิดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่า ทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแล้ว โดยต้องยึดโยงหลักการของมาตรา 91 ที่มีการแก้ไขไป ส่วนกรรมาธิการแต่ละคนจะมีความเห็นต่างก็เป็นสิทธิของแต่ละคนที่สามารถสงวนความคิดเห็นหรือจะใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
แต่อย่างไรก็ตามในฐานะกรรมาธิการก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าการพิจารณาว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปแล้ว โดยยึดการคำนวณตามคำว่า “ให้เป็นสัดส่วนสัมพันธ์กันกับพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งในจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน” ดังนั้นจึงกินความไปถึงการหารด้วย 100 และกรณีนี้จะพยายามดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค. 65) เนื่องจากมีข้อตกลงกันว่าการโหวตลงมติไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้การพิจารณาเสร็จไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ วันที่ 22 พ.ค. 2564 ซึ่งกรรมาธิการทุกคนก็ทราบกติกาแล้ว
ดังนั้นหากพิจารณาไปแล้วมีความเห็นต่างก็โหวตลงมติ เพื่อเดินหน้าทำให้กฎหมายเสร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
“จะเดินหน้าจัดการทำให้กฎหมายเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะเป็นเครื่องมือสำคัญของสถานการณ์ ของท่านนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ว่าจะมีอุบัติเหตุหรือไม่ หรือไปเมื่อครบวาระ กฎหมาย 2 ฉบับนี้ต้องผ่านวาระ 3 ไป จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะให้พี่น้องประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งหน้า” นายสาธิต กล่าว
ส่วนความเห็นที่ว่าขัดรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปก่อนหน้านี้แก้ไม่ครบนั้น นายสาธิต กล่าวว่า ก็เป็นอีกความเห็นหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมากรรมาธิการบางส่วนอาจจะแก้ไขไม่ครบถ้วน แต่ไม่เป็นเหตุที่จะไปถึงการเปลี่ยนสัดส่วนของการคำนวณ เพราะคำพูดของการแก้ไขครั้งที่ผ่านมามีความชัดเจน ซึ่งส่วนตัวย้ำว่าต้องเป็นไปตามหลักการใหญ่ ส่วนความเห็นที่จะโยงว่าไม่ได้แก้อีกมาตราหนึ่งนั้นเป็นความบกพร่องของกรรมาธิการเดิมที่ไม่แก้ไขให้ครบถ้วน แต่ไม่สามารถหยิบมาโยงว่าให้เปลี่ยนการคำนวณได้
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าหากอนาคตมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วมีผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้จนต้องเริ่มกระบวนการใหม่ นายสาธิต กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องไปติดตามว่าศาลจะมีความเห็นอย่างไร จะมีการรับไว้พิจารณาหรือไม่ซึ่งเป็นขั้นตอนแรก ซึ่งหากรับไว้พิจารณาจากนั้นต้องไปรอดูผลการวินิจฉัยว่าจะเป็นอย่างไร แต่ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเมื่อมีการแก้ไขเสร็จก็ได้มีการส่งร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ดังนั้นขั้นตอนนั้นก็เป็นสิ่งที่จะบอกว่าเมื่อผ่านมาแล้วไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อมายื่นใหม่แล้วจะมีปัญหา ก็ต้องมีเหตุผลแสดงว่าเหตุใดปัญหาถึงไม่ตรงกันกับครั้งแรกอย่างไร