"ศรีสุวรรณ" ไม่รอช้า จ่อร้องเลขาฯ ส.ป.ก. สอบปม "สมปอง" ซื้อที่ดินส.ป.ก. 300 ไร่

ศรีสุวรรณร้องสอบ สมปอง ซื้อที่สปก.

"ศรีสุวรรณ" ไม่รอช้า จ่อร้องเลขาฯ ส.ป.ก. สอบปม "สมปอง" ซื้อที่ดินส.ป.ก. 300 ไร่





ad1

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้ ได้ทำคำร้องเป็นหนังสือส่งไปยังเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อขอให้ตรวจสอบที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ ว่ามีอดีตพระมหาเปรียญ 7 ประโยควัดสร้อยทองและเครือญาติ ได้ทำการยึดถือครอบครองโดยการซื้อหามาประมาณ 300 ไร่ตามที่ตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้นั้นจริงหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา กรณีที่นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “ติ๋ม ทีวีพูล” ผู้ก่อตั้งนิตยสารทีวีพูล ได้ออกมาแถลงข่าวพูดถึงอดีตพระมหาชื่อดังประกาศถอนตัวจากรายการที่ทีวีพูลกรุ๊ปซึ่งเป็นผู้ผลิต 3 รายการ และขนย้ายข้าวของออกจากบ้าน ทั้งที่ยังติดสัญญา 2 ปี และยังระบุว่าอดีตพระมหาดังกล่าวมีหนี้สิน 10.9 ล้านบาท จากการไล่ซื้อที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 300 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา ซึ่งสร้างความแปลกใจต่อสังคมเป็นอย่างยิ่งว่า ที่ดินที่ถูกกล่าวถึงปล่อยให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้อย่างไร

เนื่องจาก พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม.39 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทําการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้น ไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก.เพื่อ ประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และใน ม.30(1) ยังกำหนดให้เกษตรกรและบุคคลในครอบครัวเดียวกันมีที่ดินในเขตปฏิรูปเกินกว่า 50 ไร่ไม่ได้ นอกจากจะใช้เลี้ยงสัตว์ซึ่งได้ไม่เกิน 100 ไร่ ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯกำหนด

ดังนั้นการที่อดีตมหาเปรียญธรรม 7 ประโยคชื่อดังถูกระบุว่าไปไล่ซื้อที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 300 ไร่ เพื่อปลูกยางพาราหรือให้ญาติๆถือครองที่ดินแทนนั้น เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ส.ป.ก.หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของเลขาธิการ ส.ป.ก.ที่จะต้องดำเนินการหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ที่ไหน อยู่ในจังหวัดชัยภูมิซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของเครือญาติอดีตพระมหาหรือไม่ มีลักษณะเป็นเช่นไร ใช่พื้นที่ของส.ป.ก.หรือไม่ หากมีการซื้อขายเปลี่ยนมือจริง ก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ “เรียกกลับคืนมา” เพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้คนอื่น ๆ ต่อไป เพราะที่ดิน ส.ป.ก. ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน เว้นแต่จะตกแก่ทายาทเท่านั้น