“ปลาอินทรีย์เค็ม” เมืองตานี ของดีขึ้นชื่อชาวประมงฝั่งอ่าวไทย


“ปัตตานี” ถือว่าเป็นแหล่งอาหารทะเลขึ้นชื่อ โดยเฉพาะเรื่องอาหารแห้งที่ส่งขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศมากมาย โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง ประเทศเพื่อนบ้าน นิยมสั่งปลาเค็ม กุ้งแห้ง ปลาหมึก ล้วนมาจากแหล่งอ่าวไทย จึงทำให้ปัตตานีกลายเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาล ด้วยความที่อยู่ติดกับทะเลอ่าวไทย เป็นแหล่งของอาหารทะเลมากมาย เนื่องจากอาชีพหนึ่ง “คนปัตตานี” ทำมาหากินกันมายาวนานนับตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
นั่นคือ การทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ติดกับอ่าวไทย จะนิยมออกเรือไปหาปลามาขายกัน โดยเฉพาะปลาที่ขึ้นชื่อมาก “ปลาอินทรีย์” ถ้าบอกว่าชาวประมงพื้นบ้านจับมาจากอ่าวไทย เขตพื้นที่ปัตตานีต้องยกนิ้วให้ เพราะความอร่อย รสชาติ เนื้อปลาจะแตกต่างแหล่งอื่นๆ
ไม่แปลกใจ “ปลานอินทรีย์” จากทะเลตานี ถูกยกให้เป็น “หนึ่งสุดยอดปลาเค็ม” จากแดนใต้เช่นกัน เนื่องจากว่าขบวนการตากแห้งปลาอินทรีย์ ที่ชาวประมงไปตกมาได้ จะนำมาตากจนแห้งบนเรือใช้เวลา 1-2 วัน แล้วนำมาทอดน้ำมันทานกัน กลิ่นหอม เนื้อนุ่ม ชวนชิมมาก ที่สำคัญ ต้องเป็นที่ชาวประมงทำกันแบบสดๆ ไม่ผ่านการอบ การแช่นำเกลือ จนรสชาติปลาเค็มจัด
นา-เจ๊ะแอเสาะ หนึ่งแม่ค้าขายอาหารทะเลแห้ง ร้านรุ่งตะวัน บริเวณตรงข้ามนาเกลือเล่าว่า ปลาอินทรีย์เค็มตากแห้ง มาจากทะเลปัตตานี ค่อนข้างจะขึ้นชื่อ เนื่องจากเป็นปลาที่ชาวประมงไปตกเป็ดมาได้ตามธรรมชาติ แล้วเขามาตากจนแห้ง จากนั้นนำมาส่งขายแม่ค้าอีกทอดหนึ่ง ซึ่งปลาอินทรีย์จะแห้งพอประมาณ มีความสด สะอาด ปราศจากสารเคมี เหมาะสำหรับทอด เนื้อจะไม่ยุ้ย เพราะไม่ได้ถนอมปลาไว้นานๆ
“สังเกตุดูผิวของปลาอินทรีย์ออกมันๆ วาวๆ ลำตัวเรียบเนียน เมื่อเอานิ้วกดลงในลำตัวปลา จะไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไป เวลานำปลามาหั่น เนื้อออกแดงๆ มีความฉ่ำอยู่ แสดงให้เห็นถึงความสดของปลา ซึ่งปลาอินทรีย์เค็มไม่ควรตากจนแห้งเกรียมจนเกินไป อีกอย่างกลิ่นของปลาไม่ฉุนมาก กลิ่นเหม็นคาวปลามากจนเกินไป” เจ๊แอเสาะ กล่าว
ที่สำคัญ ปลาเค็มจะต้องเป็นธรรมชาติจากทะเล ปลอดจากสารเคมี ซึ่งบางครั้งสังเกตดู แมลงวันยังไม่กล้าบินมาตอม แสดงว่ามีสารเคมี ถ้าปลาอินทรีย์ชาวประมงจับมาได้ จะตากแห้งอยู่บนเรือ ผิวของปลาเหี่ยวย่นเป็นธรรมชาติมาก คือ หนังปลาจะไม่ถลอก
ส่วนเรื่องราคา แม่ค้าวางขายกันกิโลกรัมละ 450 บาท บางตัวมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม แต่ถ้านำมาหั่นเป็นชิ้นขนาดเล็กได้ 20 กว่าชิ้น (ขึ้นอยู่กับขนาด) ปัจจุบันจะขายคนในพื้นที่ขาประจำ ที่มาซื้อเป็นของฝาก อีกกลุ่มหนึ่ง ชาวมาเลย์ที่เดินทางมาท่องเที่ยวชายแดนใต้ ซึ่งช่วงหลังๆนักท่องเที่ยวมากันเยอะ แต่โดยภาพช่วงนี้ ตลาดไม่ค่อยดีมากนัก อาจเป็นเพราะว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม คนไม่ค่อยใช้เงินมากนัก