"บิ๊กอ๊อป" ผบ.สส.ลงพื้นที่ชายแดนแม่สอดสั่งย้ำสกัดคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทุกมิติ


"บิ๊กอ๊อป" ผบ.สส.ลงพื้นที่ชายแดนแม่สอด ติดตามปฏิบัติการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สั่งย้ำสกัดคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หลังพบอ้างเป็นนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่เพิ่มผิดปกติ
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม .2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี "บิ๊กอ๊อป" ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน (ผอ.ศอ.ปชด.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานของ ศอ.ปชด.ส่วนหน้า จังหวัดตาก และหารือแนวทางบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ
พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.สส. กล่าวว่า ได้คุยกับ ศอ.ปชด. ที่ตนเองเป็นประธาน ที่คุยกับศูนย์ปฏิบัติการชายแดนจังหวัด โดยแรกที่พูดคุยกันคือการส่งกลับชาวต่างชาติที่อยู่ในชเวก๊กโก่ และเคเคปาร์คเป็นหลัก ตอนนี้ทำได้กว่า 3,000 คน ซึ่งอีก 2,000 คน ได้ปฏิเสธการเข้าเมือง ส่วนอีก 400 คนเป็นกระบวนการเอ็นอาร์เอ็ม ทั้งสองส่วนนี้ ตนเองได้ไปดูการปฏิบัติในวันนี้ของการส่งชาวจีนกลับ ก็พบว่าเป็นไปได้ค่อนข้างดี ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปกครอง ก็ดำเนินการไปตามความเรียบร้อย ซึ่งสามารถส่งกลับได้วันละประมาณ 500 คน แต่เนื่องจากว่าต้องเข้าไปทำขั้นตอนฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมาด้วย และมีการติดต่อกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศ ก็เลยคิดว่าต้องหาวิธีรีบเร่ง เพราะยังมีคนตกค้างกว่าอีก 4,000 คน ซึ่งจำนวนนี้เฉพาะกลุ่มที่อยู่กับทาง BGF ยังไม่รวมกับกลุ่มอื่นในเมืองอื่น
ส่วนคนที่เป็นชาติอื่น โดยเฉพาะชาวแอฟริกา ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องติดต่อสถานทูต ที่ไม่มีสถานทูตอยู่ในประเทศไทย เช่น เอธิโอเปีย เราต้องใช้กงสุลเข้าไปช่วยเหลือ แต่ตัวแทนของเอธิโอเปียที่ทำงานอยู่ ก็อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็จะทำให้มีความซับซ้อนมากขึ้น วันนี้คุยกลุ่มเอ็นจีโอของชาวต่างชาติที่ชำนาญในเรื่องการส่งกลับคนที่มาจากประเทศแอฟริกาเพื่อให้ช่วยติดต่อให้ และได้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้
พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวย้ำว่า วันนี้ที่ต้องตัดสินใจคือเรื่อง กระบวนการการตัดสินใจส่งกลับ โดยคิดว่าหากจะส่งกลับคนเป็นพันคน ต้องมีการปรับเฉพาะพื้นที่ มิฉะนั้น กระบวนการจะทำได้ยากมาก และเราต้องรับผิดชอบ สำหรับการป้องกันคนเข้าเมือง นอกจากส่งกลับแล้ว ยังมีคนที่หลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติ ซึ่งหลายจุดยังคงมีการก่อสร้างอยู่ แต่บางจุดก็มีการหยุดการก่อสร้าง โดยเชื่อว่าน่าจะมาจากมาตรการกดดันของฝั่งไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของเราได้ดูแล แล้วต้องมาพูดคุยกันว่าจะเพิ่มมาตรการในการรัดกุมอย่างไรบ้าง และจะไปเยี่ยมจุดลาดตระเวนด้วย
ส่วน 4 มาตรการในแม่สอด ที่มีการกำหนดนั้น คือการคัดกรอง สกัดกั้น ตรวจค้นภายในพื้นที่ และพูดคุยกับผู้ประกอบการเพื่อให้ไม่ให้ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ยังได้ข้อเสนอว่าควรประกาศใน 5 เมืองสำคัญที่มองว่าเป็นพื้นที่พิเศษที่ได้รับชาวต่างชาติเข้ามาโดยไม่มีความจำเป็น เช่น เดินทางเข้ามาไม่มีแผนการเดินทางชัดเจน เอกสารไม่ถูกต้อง ปลอมแปลงเอกสาร มีเงินติดตัวจำนวนน้อยมาก ซึ่งไม่ใช่นักท่องเที่ยวแน่ ๆ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงการดำเนินมาตรการ 3 ตัด คือ ตัดไฟฟ้า สัญญาณอินเทอร์เน็ต และงดส่งน้ำมัน เพื่อรายงานให้ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติรับทราบในการประชุมวันที่ 21 มีนาคมนี้ด้วย
พล.อ.ทรงวิทย์ ระบุว่า เมื่อเราเจอบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องผลักดันเขากลับ ซึ่งต้องส่งต่อไปยังสถานที่เขา เพราะอย่าลืมว่าเขาเข้าประเทศไทยมาอย่างถูกกฎหมาย และไม่ได้อยู่เกินกำหนด เราจำกัดได้แค่ว่าเขาไม่สามารถเข้าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เขายังสามารถอยู่ในไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศต้องพูดคุยกับกระทรวงต่าง ๆ
พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวอีกว่า ตนเองจะได้พบกับผู้ประกอบการ และตัวแทนเอ็นจีโอ ซึ่งแนวทางนี้ตนเองก็อยากให้มีขอบเขตระยะเวลาชัดเจน และลองใช้ซัก 3 เดือนก่อน แต่ต้องเรียนตรง ๆ ว่าถ้าเราไม่กล้าตัดสินใจใช้มาตรการใหม่ ๆ เจ้าหน้าที่หน้างานจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นอยู่แล้ว และมีปัญหาเพิ่มเติม