“ณภัทร”หญิงเก่งแบรนด์ “เจ้าสัว”ปั้นแบรนด์ภูธรไทยยิ่งใหญ่ทั่วโลก


ตลอดระยะเวลา 66 ปี เชื่อว่าผู้บริโภคคงได้เลือกทานของกิน ประเภททานเล่นและอาหารพร้อมทานกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะ “ข้าวตัง” แบรนด์เจ้าสัวผ่านตลาดมาหลายยุคสมัย จนสามารถนำพาบริษัทผงาดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อย่างภาคภูมิใจ
จากในอดีต “เจ้าสัว” มาจากธุรกิจครอบครัว ถ้าใครขับรถผ่านโคราชไปภาคอีสาน วันนี้จะเห็นโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนสายมิตรภาพ ต.สุรนารี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดีอีกแห่ง แถบไม่น่าเชื่อ ความสำเร็จมาจากเจ้าของร้านขายของฝากที่ขึ้นชื่อในเมืองโคราช “ร้านเตีย หงี่ เฮียง”
ยุคนั้นผลิตสินค้าส่งไปวางตามร้านค้า ตามตลาดสดบ้าง แถวโคราช ที่ผลิตสินค้าเนื้อหมูแปรรูป อย่าง หมูแผ่น กุนเชียง หมูยอง จนวันนี้เติบโตอย่างรวดเร็วมีสินค้ามากมาย สามารถส่งออกเป็นแบรนด์ของคนไทยไปตลาดต่างประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีปฎิธานที่อยากให้ผู้บริโภค “กินดี อยู่ดี”
หนึ่งทายาทผู้บริหารยุคใหม่ ไฟแรง “กิ๊ฟ-ณภัทร โมรินทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO กล่าวว่า “เจ้าสัว” ถือว่าเป็นผู้นำธุรกิจและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ของไทย ภายใต้แบรนด์ “เจ้าสัว” ได้ดำเนินธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่น คือ นำสูตรลับความอร่อยตำรับเจ้าสัวสู่คุณ โดยมุ่งเน้นเรื่องการผลิตที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อย และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
ที่สำคัญ จะใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต เลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ จนสามารถทำให้อายุอาหารได้ยาวนาน และยังออกแบบ ดีไซน์บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย พกพาง่าย ให้สามารถรับประทานได้ทุกวัน โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะให้ธุรกิจเติบโคอย่างต่อเนื่อง
ด้วยยุทธ์ศาสตร์สำคัญ ที่จะนำพาแบรนด์ขนมขบเคี้ยวไทยไปสู่ตลาดโลก ภายใต้แนวคิด “Bring local global” มุ่งสู่การเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวชั้นนำระดับโลก โดยบริษัทวางยุทธศาสตร์ทางการตลาดไว้เติบโตทะลุ 2,200 ล้านบาทภายปี 2570 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
โดยวางกลยุทธ์หลักการเติบโต 1. ความเป็นเลิศด้านการตลาด ด้วยการสร้างการรับรู้แบรนด์ให้เป็นอันดับหนึ่ง ครองใจผู้บริโภค ผ่านการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ทันสมัย พร้อมสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านแคมเปญการตลาดที่แข็งแกร่ง ผสมผสานสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ 2.สร้างนวตกรรมและความหลากหลาย มุ่งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ 15-20 อย่างตลอดทั้งปี เพื่อสนองตอบผู้บริโภค 3. เสริมความแข็งแกร่งในการจัดจำหน่าย ด้วยการพัฒนาช่องทางค้าปลีก และขยายช่องทางใหม่
ส่วนตลาดต่างประเทศ จะมุ่งเน้นกลุ่มประเทศเดิมที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เคยได้รับผลตอบรับดี อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา จะตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นใหม่ เพื่อดูแลการตลาดสหรัฐและแคนาดา กลยุทธ์หลัก การนำเสนอผลิตภัณฑ์ตนเองเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย พร้อมออกงานแสดงสินค้า เพื่อสร้างความรับรู้แบรนด์
ด้านประเทศจีน จะมุ่งเน้นเพิ่มจำนวนลูกค้า ทั้งในกลุ่มผู้จัดจำหน่ายและผู้ค้าปลีก ควบคู่ไปกับกิจกรรมทางการตลาด ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้เริ่มขยายตลาดเพิ่มเติมปี 2567 ส่วนกลยุทธ์ปี 68 จะมุ่งเน้นการสร้างฐานที่แข็งแกร่ง และกระจายสินค้าครอบคลุมมากขึ้น
สำหรับการขยายตลาดสู่สากลปี 2568 จะขยายประเทศใหม่เพิ่มเติมอีก 5-10 ประเทศ โดยมุ่งเน้นประเทศที่มีการเติบโตสูงในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ผ่านงานแสดงสินค้า พร้อมตั้งตัวแทนจำหน่าย บริษัทวางแผนสร้างแบรนด์เป็นที่รู้จักทั่วโลก รวมถึงตลาดในกลุ่มประเทศฮาลาล ซึ่งมีโอกาสสำคัญในการเติบโต