“ลำดวน“ ปลื้มผ้าไหมขิดโพธิ์ค้ำ ขายงานศิลปะ โชว์ลวดลายเล่าเรื่องผ่านกาลเวลา


อีกหนึ่งจังหวัดในแถบภาคอีสานที่ขึ้นชื่องานทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้าขิด ที่จังหวัดหนองบัวลำภู เชื่อว่าในแวดวงผ้าไทยในท้องถิ่นคงไม่ปฎิเสธที่ไม่รู้จัก “ผู้ใหญ่ลำดวน นันทะสุธา” ประธานกลุ่มทอผ้า อดีตเคยคว้ารางวัล กรมพัฒนาชุมชนเมื่อปี 2559 ที่รังสรรค์ผลงานการทอผ้า นำศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงประวัติศาสตร์มาไว้บนผืนผ้าอันงดงามวิจิตรา
ลำดวน ประธานกลุ่มทอผ้าขิดไหม บ้านโพธิ์ค้ำ อ.นากลาง กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ได้นำคำขวัญ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานดำ แผ่นดินธรรมหลวงปู่ขาว เด่นสกาวถ้ำเฮราวัณ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ซึ่งในคำขวัญถูกถอดออกมาเป็นศิลปะ ในแต่ละอย่างลงบนเนื้อผ้าทอในแต่ละชิ้น
โดยก่อนหน้านั้น อดีตท่านผู้ว่าฯ สุขุมรัฎฐ์ สารีบุตร ได้ให้คำแนะนำเอาคำขวัญมาใช้ในออกแบบลวดลายผ้าที่เป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งใช้เวลาคิดอยู่นาน เพราะต้องอาศัยความละเอียดในการทอ ต้องมีความมุ่งมั่นมาก จนกว่าจะประสบผลสำเร็จได้ แต่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในกลุ่ม ร่วมแรง ร่วมใจกันทำงาน เพื่อให้ผ้าชิ้นนี้ออกมาสู่สายตา
ส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาชุมชนมาให้องค์ความรู้ในเรื่องการการทอ การตลาด จึงมีการรวมตัวกันในชุมชนตั้งกลุ่มทอผ้าขิดไหม โพธิ์ค้ำ ซึ่งเป็นผ้าทอมือย้อมเส้นไหมด้วยเปลือกไม้ เป็นสีธรรมชาติ โดยปี 2525 หลังจากเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อเสด็จวัดถ้ำกองเพล ได้ถวายผ้า และได้รับพระราชทานทุนทรัพย์ ชาวบ้านจึงมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อปลูกหม่อน ปลูกไหม โดยกรมหม่อนไหมกระทรวงเกษตรและสหกรณ เป็นสนับสนุน
จากช่วงแรกกลุ่มทอผ้ามีแค่ 40 คน จนถึงปัจจุบันมีอยู่100-200 คน บางคนเป็นเกษตรกรทำไร่ ทำนา ทำไร่อ้อย พอมีเวลาว่างมาทอผ้า เพื่อสร้างรายได้เสริมเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นชาวบ้านที่รักในการทอผ้า ส่วนคนรุ่นใหม่ จะไปทำงานในสายอื่นๆที่ร่ำเรียนมากันเป็นส่วนใหญ่
สำหรับผ้าไหมขิด บ้านโพธิ์ค้ำ หรือผ้ากุดแห่ จะมีอัตลักษณ์โดดเด่นต่างจากแหล่งอื่นๆตรงที่ ได้นำเอาแนวคิดเเรื่องราวในประวัติศาสตร์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ มาทอลงในผืนผ้า จนเป็นที่ยอมรับในวงการนักสะสมผ้า ที่หลงใหลในงานหัตถศิลป์ผ้าไทย ซึ่งจะมีพ่อค้ามาซื้อไปขายกัน บางปีนำไปขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ ลูกค้านิยมซื้อเป็นของขวัญไปฝากในต่างประเทศบ้าง พอเห็นฝีมือ ลวดลายสวยงามการทอจะชื่นชอบบอกต่อกันแบบปากต่อปาก กลับมาซื้ออีกครั้ง
อย่างเมื่อสมัยปี 2546 ที่ผ่านมา ตลาดค่อนข้างดี มีกลุ่มลูกค้าขาประจำบางคนเอาผ้าไปเปิดขาตามช้อปในห้างดัง แต่หลังจากโควิท ตลาดค่อนข้างเงียบบ้าง อาจเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจโดยรวมไม่ค่อนดี ผู้ซื้ออาจประหยัดเงิน แต่คนทอผ้า ยังต้องสนับสนุนกันต่อไป เพราะว่าเป็นงานฝีมือ ที่มีทักษะและใช้ประสบการณ์พอสมควร ปัจจุบันมีอยู่30 คน อย่างผ้าทอ ลวดลายยากใช้เวลานานถึง 3เดือนกว่าจะแล้วเสร็จต่อหนึ่งผืน ราคาระดับหลักแสน ส่วนบางลวดลายหลักหมื่น
“อาชีพทอผ้านั้น ต้องเหน็ดเหนื่อย มีความอดทนสูง ถ้าใครไม่รักจริง จะหันมาทำอาชีพนี้ยาก อีกอย่างต้องอาศัยจิตวิญญาณ มีความมั่งมั่น และใส่ใจในตวามละเอียด เพราะว่าบางลวดลายต้องใช้สายตา สมอง ค่อนข้างสูง แต่เมื่อสำเร็จแล้วคุ้มค่า วางขายในราคาที่สูง” ลำดวนกล่าวตอนท้าย