ผู้ว่าชลบุรีลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

ผู้ว่าชลบุรีลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3





ad1

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567  ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี  นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยมี นายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พ.ต.อ.ไพฑูรย์ พิทักษ์ธรรม รอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี นายอดิเรก อุ่นโอสถ ปลัดจังหวัดชลบุรี นายธิติ เศรษฐมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 14 ว่าที่ร้อยตรี รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมลงพื้นที่

นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้มีการเชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ( กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ) และประเทศจีนตอนใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค และเตรียมผลักดันให้เป็นท่าเรือชั้นนำของโลก และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึกและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail TransferOperator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ

ท่าเรือแหลมฉบัง มีพื้นที่รวมขนาด 8,752 ไร่เป็นอาณาเขตทางบก 6,341 ไร่และอาณาทางทางน้ำ 2,411 ไร่โดยมีท่าเรือที่เปิดดำเนินการแล้ว เป็น ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 11 ท่า ท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ (Ro/Ro) 3 ท่า ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ 3 ท่า ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป 1 ท่า อู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า

ในปัจจุบันศักยภาพท่าเรือแหลมฉบังมีความสามารถในการรองรับตู้สินค้าประมาณ11 ล้านตู้ต่อปี และรองรับรถยนต์ได้ 2 ล้านคันต่อปี โดยในอนาคตเราตั้งเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปีและรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเราจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอินโดจีนและประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง พร้อมก้าวขึ้นเป็นท่าเรือระดับโลก  ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการไปกว่า 30 %แล้ว ซึ่งหากท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เปิดให้บริการครบทุกท่าเทียบเรือและสถานีขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ จะทำให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้สูงสุดถึง 18.1 ล้านตู้ต่อปี

อีกทั้ง ยังสามารถเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ นำไปสู่การเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ทั้งการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือและการขนส่งสินค้ารูปแบบรางรถไฟ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กลุ่ม CLMV และจีนได้ ผู้ว่าชลบุรีกล่าวทิ้งท้าย