กระทรวงอุตฯลุยสร้างความมั่นคงทางอาหารเชื่อมโยงประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง

กระทรวงอุตฯลุยสร้างความมั่นคงทางอาหารเชื่อมโยงประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง





ad1

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันอาหาร จัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ ภายใต้การดำเนินโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสมรรถนะด้านความมั่นคงทางอาหาร “Capacity Building on Food Security in Agro- Processing Industry among Mekong Countries and People's Republic of China" สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย รวมจำนวน 26 ราย ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 9 มีนาคม 2567 โดยมีนายใบน้อย สุวรรณชาตรี  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน 

พร้อมทั้งนางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู  รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ทั้งนี้ ภายหลังกิจกรรมการฝึกอบรม ได้รับเกียรติจากนางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เป็นผู้กล่าวปิดงานและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนจากประเทศสมาชิกฯ นอกจากนี้ ไทยยังได้จัดกิจกรรมแสดงความยินดี Soft Power ผ่านการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย โดยการขับร้องและเล่นเครื่องดนตรีไทย โดยเจ้าภาพ การแสดงโขน บรรเลงดนตรีไทย และรำวงมาตรฐาน โดยนักเรียนมัธยมโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมงาน

อุตสาหกรรมอาหารของไทย เป็นหนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมหลักที่มีความเข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยการขับเคลื่อนโครงการ Capacity Building on Food Security in Agro-Processing Industry among Mekong Countries and the People's Republic of China จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ เพิ่มพูนแบ่งปันองค์ความรู้และพัฒนาขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางด้านอาหารในสาขาการแปรรูปผลิตผลการเกษตร  รวมทั้ง ยังเป็นการสร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างภาครัฐและเอกชนระหว่างไทยและสมาชิกกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นทั้งเส้นทางการค้าที่สำคัญและเป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีการเพาะปลูกทำการเกษตรอย่างมากมาย ดังนั้น  อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจึงมีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหาร อย่างไรก็ดี ยังคงมีช่องว่างด้านเทคโนโลยีและทักษะฝีมือการผลิต ดังนั้น การพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เชื่อมต่อกันทั้งพรมแดน วัฒนธรรม ประเพณี และประชาชน 

สำหรับกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ ได้จัดให้มีการบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 7 หลักสูตรแบบบูรณาการ ประกอบด้วย ความเชื่อมโยงของภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ในด้านความมั่นคงทางอาหาร (MLC’s connection: Food security) ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร (Food Technology) นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคและการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน (China’s macro-economic development policy and food security) เทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูป (Packaging and Materials Technology) ความรู้ด้านการเงินและการบริหารด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (Simple financial management and accounting for small entrepreneurs) และการวิจัยและพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร (Development R&D) รวมทั้ง การจัดศึกษาประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูปของไทยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ได้แก่ 

-ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร กรุงเทพฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการความมั่นคงด้านอาหาร เทคโนโลยีการแปรรูป เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุการเก็บรักษา รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
-ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้างฟ่างแห่งชาติ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อเรียนรู้แนวทางการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดและข้าวฟ่าง แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
-สวนเอเดน ออร์แกนิกส์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อเรียนรู้แนวคิดและวิธีการทำเกษตรบน ที่ราบสูงโดยเฉพาะผลไม้ชนิดต่าง ๆ ผสมผสานกับการท่องเที่ยวและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผัก ผลไม้ท้องถิ่น
-บ้านหมากม่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แหล่งพืชสวนที่จัดการผลผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยการศึกษาสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ ตลอดจนแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ามะม่วงในรูปแบบต่าง ๆ

-ฟาร์มโชคชัย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อเรียนรู้การทำฟาร์มโคนมและแนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจ และการขยายธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การทำกิจกรรมในฟาร์ม สวนสัตว์ สวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ และร้านอาหารจากเนื้อสัตว์
-Wisdom Farm อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ฟาร์มแห่งภูมิปัญญา เพื่อเรียนรู้แนวคิดการปลูกพืชเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถพึ่งพาตนเอง โดยสามารถทำเป็นงานอดิเรกในพื้นที่จำกัด ไปจนถึงสามารถประกอบเป็นอาชีพเกษตรกร
-THAIFEX – HOREC ASIA 2024 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จ.นนทบุรี เยี่ยมชมดูงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่และครบวงจรที่สุดแห่งเอเชีย 


ในโอกาสนี้ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ร่วมแสดงความรู้สึกต่อการจัดกิจกรรมฯ ดังนี้

MR. YUVAROATH TAN ผู้แทนกัมพูชา “การได้ร่วมโครงการนี้รู้สึกประทับใจ และเป็นประโยชน์อย่างมากมาย ตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกร เชื่อว่า การเพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับภูมิภาคได้”

MR. SOMSAY PHOVISAY ผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว “งานนี้คือ การเดินทางและความรู้ มีความประทับใจหลายด้าน ทั้งด้านวิชาการความรู้ที่ได้รับนั้นมีประโยชน์มาก พื้นที่การดูงานและการดูแลอย่างดีให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน” 

MS. NGO THI KHANH HUYEN ผู้แทนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม “การได้เรียนรู้ ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเพื่อนๆ เป็นประโยชน์มาก โดยส่วนตัวสนใจประเด็นด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และวัสดุ เพราะเป็นส่วนสำคัญสำหรับการส่งออกอาหารไปยังประเทศอื่น ๆ นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยจะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง” 

MS. MU MU AYE ผู้แทนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา “การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความรู้ด้านความมั่นคงอาหาร ประทับใจหัวข้อเกี่ยวการพัฒนาอาหารที่ยั่งยืน โดยเฉพาะภาคเกษตรแปรรูปอาหารที่มีการดำเนินการในไทย สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี”

MR. BOUNMEK XAISEEPHENG ผู้แทนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว “การร่วมโครงการ ครั้งนี้ ได้ความรู้และประทับใจมาก โดยหัวข้อที่ชอบมากที่สุดคือ การบริหารการจัดการด้านอาหาร การใช้และการจัดการเทคโนโลยี และวิธีการเก็บอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น โดยรวมการจัดงานยอดเยี่ยมมาก”