สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ปักหมุดนำทักษะ “การฟื้นคืน : Resilience” ส่งต่อสังคม ช่วยฮีลใจในวันวิกฤติ
ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ธนาคารจิตอาสา ความสุขประเทศไทย และ Mindful Self-compassion Thailand ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. จัดงานเสวนา Resilience Showcase เผยความสำเร็จของโครงการในการใช้แนวคิดและทักษะการฟื้นคืนทางจิตใจหรือ Resilience กับกลุ่มนำร่อง ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ให้บริการสุขภาพ การศึกษา การพัฒนาบุคคลในองค์กร ฯลฯ ตั้งเป้าต่อยอดขยายแนวคิดและทักษะ Resilience นี้ไปสู่สังคมในวงกว้าง
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้านภายใต้ความผันผวน ไม่แน่นอน สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของทักษะในการเยียวยาและดูแลจิตใจเมื่อชีวิตต้องประสบกับวิกฤติที่ไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือ ที่ผ่านมา สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาของคนไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นหนึ่งใน 4 มิติหลักของงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่ประกอบด้วย มิติทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ด้วยการส่งเสริมศักยภาพทั้งในระดับบุคคล ชุมชนและสังคม ควบคู่กับการสร้างปัจจัยแวดล้อมทางสังคมให้เอื้อต่อการเข้าถึงและการเรียนรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญาเพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เกิดสังคมที่เกื้อกูล เคารพความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงการมีศักยภาพของการฟื้นคืนหรือ Resilience ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่จะช่วยสังคมเมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติความเปลี่ยนแปลง ในเบื้องต้นจึงได้มีการจัดโครงการสร้างการเรียนรู้ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และบริการสุขภาพ ซึ่งได้รับผลสำเร็จด้วยดี ในปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงตั้งเป้าที่จะขยายต่อทักษะนี้ไปสู่สังคมในวงกว้างมากขึ้น เพื่อหวังให้เป็นทักษะสำคัญที่คนในสังคมจะได้นำไปใช้ดูแลทั้งตัวเองและคนรอบตัว เป็นเครื่องมือเพื่อเตรียมรับกับภาวะวิกฤติของชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจ มีสติ ไปจนถึงการมีความหวัง และมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ของชีวิตในช่วงเวลา ยาก ๆ ที่ต้องเจอได้
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า งานเสวนาครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเก็บเกี่ยวผลงาน สำรวจต้นทุน รวมถึงการขยายผลงานเสริมสร้างทักษะการฟื้นคืน หรือ Resilience ของบุคลากรในระบบบริการสุขภาพที่ธนาคารจิตอาสาได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด โดยที่ผ่านมามีการจัดฝึกอบรมในรูปแบบทั้ง online และ on-site ไปแล้วหลายรุ่น จำนวนมากกว่า 1,800 คน เราคิดว่าสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะทำให้การเรียนรู้ทักษะนี้เติบโตได้ในสังคม คือการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วและกลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยอบรม แต่มีความสนใจ ได้มาพบกัน มาร่วมพูดคุยกัน แบ่งปันผลของการนำทักษะการฟื้นคืนนี้ไปใช้ในบริบทปัญหารูปแบบต่าง ๆ ของชีวิต โดยธนาคารจิตอาสาจะมีการสรุปรวบรวมผลที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้ เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาปรับปรุงการทำงาน และขยายผลต่อไปสู่การเปิดรับผู้สนใจที่จะเรียนรู้ทักษะการฟื้นคืนนี้ในกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป
ดร.เบนจามิน ไวน์สตีน นักจิตวิทยาคลินิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์วิกฤติ (เช่น สึนามิ พื้นที่สงคราม ฯลฯ) กล่าวว่า ถ้าเปรียบตัวเราเหมือนสมาร์ทโฟน เราทุกคนมีแบตเตอรี่อยู่ข้างใน แต่แบตเตอรี่ของพวกเราล้วนมีพลังที่แตกต่างกัน ทักษะการฟื้นคืนหรือ Resilience นั้นจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แบตเตอรี่ของเราทนทานขึ้น มีพลังมากขึ้น ทำให้เราสามารถรักษา ดูแล และเพิ่มความสามารถของเราเพื่อที่จะยืนหยัดผ่านความยากลำบาก ซึ่งสิ่งนี้เป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งของชีวิต การพัฒนาให้เกิดทักษะการฟื้นคืน Resilience นั้นประกอบด้วย 5 มิติ ทั้งการฟื้นคืนทางกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ โดยมีความตระหนักรู้เป็นกุญแจสำคัญ การพัฒนาความตระหนักรู้นั้นสามารถทำได้ผ่านกิจกรรมง่าย ๆ ในชีวิต ตัวอย่างเช่น การใช้เวลา 5 นาทีเขียนบันทึกประจำวันถึงสิ่งที่เราได้เจอในวันนั้น สิ่งที่เราอยากขอบคุณ 1 สิ่ง สิ่งที่เราอยากปรับปรุง 1 สิ่ง หากเราทำอย่างต่อเนื่อง เราจะมีกล้ามเนื้อความตระหนักรู้ที่แข็งแรงขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราพัฒนาทักษะการฟื้นคืนทางจิตใจได้ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
ภายในงาน Resilience Showcase ยังมีผู้เข้าร่วมเสวนาที่ได้นำทักษะนี้ไปใช้ในการทำงานมาร่วมแบ่งปันพูดคุยประสบการณ์ ได้แก่ พญ.สิริลักษณ์ วงศ์ชัยสุริยะ โรงพยาบาลพระปกเกล้า อ.ปุณยวีร์ จิระรัตนวรรณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คุณศิริพร เรนเจอร์ อาสาสมัครกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจทักษะการฟื้นคืนทางจิตใจหรือ Resilience สามารถติดตามข่าวสารได้ทางเฟซบุ๊กเพจความสุขประเทศไทย หรือเรียนรู้ด้วยตนเองเบื้องต้นผ่านบทความและคลิปวิดีโอที่เว็บไซต์ HappinessIsThailand.com