"ชุมชนสุขเสมอดาว"ต้นแบบโครงการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจเมืองน่าน

"ชุมชนสุขเสมอดาว"ต้นแบบโครงการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจเมืองน่าน





ad1

น่าน - สำนักปลัด และนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน "ชุมชนสุขเสมอดาว" โครงการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมชุมชน ด้วยการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในพื้นที่จังหวัดน่าน 

นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วยคณะนักศึกษา สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 27 (ปปร.27) เข้าพบ นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่ห้องประชุมเจ้าสุมนเทวราช ศาลากลางจังหวัดน่าน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงาน ศึกษาดูงาน โครงการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมชุมชน ด้วยการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในพื้นที่จังหวัดน่าน  

โดยได้คัดเลือกพื้นที่ ชุมชนสุขเสมอดาว บ้านหนองป่าค่า  ตำบลศรีษะเกษ  อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้เนื่องจากชุมชนดังกล่าวเป็นต้นแบบในการออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ โดยผู้นำชุมชนและคนในพื้นที่  ใส่เรื่องสิ่งแวดล้อมมีการคัดแยกขยะ ใช้พลังงานหมุนเวียน มีการตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์น่าน และใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นมาประยุกต์ช่วยเพิ่มสีสันให้กับอาหารท้องถิ่นให้ดูน่ารักประทานขึ้น  ชุมชนมีการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  การท่องเที่ยวเชิงอาหาร มีการออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายกายและใจ  และที่สำคัญชุมาชนได้เข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวคาร์บอนสิทธิเป็นศูนย์  มีการคำนวณประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนักท่องเที่ยวต่อคนได้ 

 โดยมีนายบัณฑูร สุนทรสมบัติ นายอำเภอนาน้อย   และ  นายโยธิน ทับทิมทอง ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานน่าน  พร้อมด้วยชุมชน ร่วมต้อนรับ พาศึกษาสภาพรวมของชุมชน และสาธิตการทำจานจากใบไม้ ซึ่งนอกจากเพิ่มมูลค่า และยังช่วยลดการเผาเศษใบไม้ด้วย และกิจกรรมการทำไข่ยองตอง อาหารพื้นบ้าน และยำ 4 ธาตุ อาหารที่มีส่วนผสมจากผักอินทรีย์และสมุนไพร ซึ่งเป็น 1 ในเมนูอาหารการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 

ซึ่งหลังจากที่ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลแล้ว ได้มีการจัดเสวนา "กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"  โดยมีนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน หัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน ด้านการท่องเที่ยว ที่ เฮือนฮังต่อ อ.เมืองน่าน  เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านศักยภาพ  โอกาส  ข้อจำกัดและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน  โดยในเวทีเสวนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ แนวทางการกำกับดูแลงานด้านการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดน่าน รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด แนวทางการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ 

การดำเนินการวางแผนและจัดการด้านการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด การสนับสนุนโครงการและกิจกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน แนวทางการกำกับดูแลงานด้านการท่องเที่ยวในอำเภอนาน้อย (พื้นที่ศึกษาดูงานของคณะนักศึกษา ปปร.27) การประสานงานกับส่วนกลางในระดับประเทศ ในการสนับสนุนและพัฒนาท่องเที่ยวให้กับจังหวัดน่าน การจัดการและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของจังหวัด การพัฒนาการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวกับที่พักของจังหวัดน่าน เป็นต้น

นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี   กล่าวว่า  วัตถุประสงค์สำคัญของการลงศึกษาชุมชนหนองป่าคา เป็นการเตรียมความพร้อมของการนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  โดยเฉพาะในเรื่องของ ZERO CARBON  ซึ่งจังหวัดน่านนั้นเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม มีขีดความสามารถในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้  ซึ่งคณะได้ลงศึกษาวิถีชีวิตชุมชน สภาพทางกายภาพ ปัญหาสภาพจริง เพื่อนำมาสู่การแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่  และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยวิถีคาร์บอนต่ำ  พร้อมทั้งสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจ ทราบถึงยุทธศาสตร์ การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในภาพรวมของจังหวัดน่าน และสามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนทางการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศจากการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมชุมชนด้วยการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

ซึ่งการนำคณะมาลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้รับทราบถึงแนวทางการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวแก่ชุมชน จากภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้รับ ทางคณะนักศึกษา สถาบันพระปกเกล้า จะนำข้อสรุปดังกล่าว ไปใช้ในการวางแผน กำหนดแนวทางต่าง ๆ นำผลการสรุปทั้งหมดนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดน่านต่อไป เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำโครงการต่าง ๆ ในการรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งหวังให้จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่คงความเป็นอัตลักษณ์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน