นายกฯนำทีมประกาศจะปลดปล่อยประชาชนพ้นหนี้นอกระบบ

นายกฯนำทีมประกาศจะปลดปล่อยประชาชนพ้นหนี้นอกระบบ





ad1

นายกรัฐมนตรีนำแถลงใหญ่ประกาศปลดปล่อยประชาชนให้หลุดพ้นจากหนี้นอกระบบ ขณะที่มหาดไทยเปิดให้ลูกหนี้ที่ถูกข่มขู่ ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าววาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก วันนี้เราจะเอาจริงเอาจังทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย ในวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และฝ่ายตำรวจที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฏหมาย จะมาทำงานร่วมกัน แก้ไขทั้งเรื่องหนี้ และมีเรื่องของความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่ละเอียดอ่อน นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลก็จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตนคิดว่าเลขนี้ น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริงๆน่าจะมีมากกว่านั้น คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สิน ที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะฝัน หรือทำตามแพสชั่นได้ ปิดโอกาสการต่อยอดไปหลายอย่าง ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังทุกภาคส่วน สำหรับตน หนี้นอกระบบถือว่าเป็น Modern World Slavery เป็นการค้าทาสในยุคใหม่ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้

นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัญหานี้เรื้อรัง และใหญ่ เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามาทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก โดยภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ การทำสัญญา ที่หลายครั้งไม่เป็นไปตามกฏหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย พูดง่ายๆ คือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจพอจะดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้

นายกฯ กล่าวว่า ในความตั้งใจนี้ ตนได้สั่งการในช่วงต้นเดือน พ.ย.ให้ตำรวจและมหาดไทยไปทำการบ้านมา โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่เคยแยกกันทำพูดให้ชัดๆ คือ การแก้หนี้นอกระบบจะต้องทำด้วยกันแบบ End-to-end ต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าไปอยู่ในวงจรอีก และทั้งสองหน่วยงานจะต้องเข้าใจกระบวนการ ทำงานของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการทำงานไม่ซ้ำซ้อน มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบร่วมกัน ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ มีการให้เลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ติดตามผลได้ มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่างๆอย่างตรงไปตรงมา จะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เพราะบางกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตนก็ขอให้ทุกส่วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน ตนขอฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย มีเป้าประสงค์ (KPI) ร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจน และตนจะติดตามดูผลอย่างใกล้ชิด

นายกฯ กล่าวว่า หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และ กระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย แน่นอนว่ารัฐบาลก็จะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด การแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ตนมั่นใจว่า ด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็ก รายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น นอกจากหนี้นอกระบบแล้ววันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีการแถลงเรื่องภาพรวมหนี้แบบครบวงจร ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบอีกครั้งนึง และตนจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลัง มีแรงใจ ที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ จะมีหลักเกณฑ์เรื่องดอกเบี้ยอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี และต้องดูว่าตั้งแต่เป็นหนี้ไปแล้วจ่ายเงินไปแล้วเท่าไหร่ หากจ่ายเกินไปแล้วก็ต้องยกเลิกต่อกัน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการสำรวจอย่างจริงจังหรือไม่ว่า จำนวนหนี้นอกระบบมีเท่าไหร่ และมาตรการแก้หนี้นี้เหมือนทุกอย่างจะเป็นแบบเดิมที่เคยทำกันมาแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้มีปัญหาหนี้นอกระบบเช่นเดิมอีก นายเศรษฐา กล่าวว่า การแก้หนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำแบบบูรณาการ ครั้งนี้ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายมั่นคง จะให้เจ้าหนี้มาเจรจา และกระทรวงกาคลังที่จะเข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งยังจะมีการแก้หนี้ในระบบด้วย ตรงนี้จะเป็นอีกส่วนที่จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ โดยจะมีการแถลงวันที่ 12 ธ.ค. เราจะนำการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบมาประสานกัน เพื่อทำให้ประชาชนกลับมาเป็นหนี้ยากขึ้น การจะไม่ให้เป็นหนี้เลยคงลำบาก แต่เราจะทำให้เป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อถามว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศมีเยอะ ผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอีลิท อาจไม่เห็นความชัดเจนของปัญหา นายเศรษฐา กล่าวว่า การที่เรามีวันนี้ คือ พูดคุยระหว่างฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง กระทรวงการคลัง เชื่อว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่นำทุกภาคส่วนมาบูรณาการกัน ไม่ใช่ว่าเรามองไม่เห็น ถ้ามองไม่เห็นคงไม่มานั่งกันวันนี้ ยืนยันเรื่องนี้เราให้ความสำคัญ การยกระดับเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ นโยบายของรัฐบาลมีอีกหลายเรื่องที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น เราต้องเริ่มจากลดค่าใช้จ่ายก่อน ซึ่งตนทำแล้ว ทั้งลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร แต่เรื่องหนี้นอกระบบเราต้องแก้ไขอย่างจริงจัง วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในวันที่ 8 ธ.ค.จะมีการประชุมนายอำเภอและผู้กำกับทั่วประเทศ โดยจะให้นโยบาย มอบ KPI ติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง จะไม่เหมือนที่เคยทำกันมา

เมื่อถามว่า คนที่ปล่อยกู้นอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพล หากไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการการไกล่เกลี่ย จะดำเนินการอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลเราไม่ยอมรับผู้มีอิทธิพลนอกระบบ หรือเป็นมาเฟีย ตรงนี้ต้องจัดการไป บ้านเมืองมีกฎหมาย อัตราดอกเบี้ยที่คิดไว้ต้องชัดเจน โดยเราจะเรียกทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้มาคุย

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ขอยืนยันจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาตินี้ ไปดำเนินการอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพต่อไป โดยเราจะใช้เครือข่ายและกลไกการทำงานที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ และใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม และได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง ที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ ที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้มีการดำเนินการผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและระดับอำเภอ โดยนายอำเภอจะมีบทบาทในฐานะประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยร่วมกับพี่น้องประชาชนในนามคณะผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งนายอำเภอก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการให้คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ตามเงื่อนไขของหลักกฎหมาย

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับมาตรการล่าสุดของรัฐบาลนั้น จะเป็นการต่อยอดให้เราสามารถช่วยเหลือประชาชนในเชิงรุกได้มากขึ้นผ่านศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทางกระทรวงมหาดไทยขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนถูกข่มขู่คุกคามหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมมาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ในศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ในที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง และในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละเคสก็มีความเฉพาะตัวที่ต่างกัน

นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งมีพฤติกรรมข่มขู่ใช้ความรุนแรง หรือเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ทางฝ่ายปกครองจะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งในส่วนนี้จะมีความสอดคล้องกับงานปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ด้วย เพราะหนึ่งในกลุ่มผู้มีอิทธิพลก็คือกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบด้วย ถือว่า Watch List ที่เรามีอยู่ ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการจับตาพฤติกรรมกัน เชื่อว่าหลังการแถลงในวันนี้ ทุกฝ่ายคงร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และหากชุมชนช่วยกันสอดส่อง ตักเตือนให้ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เราก็น่าจะไม่ต้องมีคดีความเพิ่มขึ้นมาก และจะโฟกัสกับการแก้ปัญหาหนี้สิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ตั้งหลักได้ต่อไป

ขณะที่ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สตช.รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมาย เราเห็นความเดือดร้อนการท้วงโดยใช้ความรุนแรง โดยมีสายด่วน 1559 เพื่อรับแจ้งปัญหา มอบหมายให้ตำรวจตรวจตราพื้นที่อย่าเข้มข้น เพื่อสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด โดยตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 134 ราย ยึดของกลางมูลค่า 8 ล้านบาท ทั้งนี้ ผบ.ตร.พร้อมทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการติดตามผลอย่างโปร่งใส

ส่วน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังดูแลลูกหนี้นอกระบบ ภายหลังที่ปรับโครงสร้างหรือไกลเกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีธนาคารของรัฐดูแล อย่างธนาคารออมสิน และเรามีโครงการอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะให้กู้รายหนึ่งไม่เกิน 50,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี และอีกส่วน จะเป็นเรื่องของโครงการสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระรายย่อยเพื่อส่งเสริมอาชีพ ซึ่งนี่จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย นอกจากนี้ ทาง ธ.ก.ส.ก็มีโครงการเพื่อรองรับ หากใครจะนำที่ดินมาฝากขาย หรือติดจำนองที่เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ทาง ธ.ก.ส.จะมีวงเงินให้กับเกษตรกรต่อราย 2.5 ล้านบาท ในการแก้ไขเรื่องที่ดินทำกิน

“สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย เรามีช่องทางให้ขออนุญาตเรื่อง pico finance ซึ่งมีผู้มาขออนุญาตแล้วพันกว่ารายทั่วประเทศ ซึ่งเรามีทุนจดทะเบียนให้ผู้ประกอบการแต่ละราย 5 ล้านบาท” นายกฤษฎา กล่าว