ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ปลอมสารพัดเว็บเงินหมุนเวียนกว่า 7 พันล้าน

ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ปลอมสารพัดเว็บเงินหมุนเวียนกว่า 7 พันล้าน





Image
ad1

ตำรวจสอบสวนกลางทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ปลอมสารพัดเว็บ รวมทั้งเว็บตำรวจสอบสวนสวนกลาง ดีเอสไอ และตำรวจไซเบอร์ ทำเหยื่อถูกหลอกซ้ำซ้อน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้านบาท

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้ร่วมกันจับกุมเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ ปลอมสารพัดเว็บ ตุ๋นเหยื่อโอนเงิน ควบคุม 5 ผู้ต้องหา ดังนี้

 1. นายฉาง อายุ 35 ปี (สัญชาติจีน) 2. น.ส.ฤดีฯ อายุ29 ปี 3. นายเอกณัฏฐ์ฯ อายุ 43 ปี 4.นายเอกชัยฯ อายุ 40 ปี และ 5. นายวันดีฯ อายุ 26 ปี (สัญชาติกัมพูชา) ในข้อหากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน”

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สิน ประกอบด้วย 1.คอมพิวเตอร์  7 เครื่อง 2.โทรศัพท์  10 เครื่อง 3. บัญชีธนาคาร 46 เล่ม 4. รถยนต์หรู 7 คัน 5. รถจักรยานยนต์ 2 คัน 6. โฉนดที่ดิน 2 ฉบับ 7. บัตร ATM  17 ใบ
8. เงินสด 8,688,590 บาท  และ9. ของมีค่าอื่นๆ อีก 79 รายการ รวมมูลค่าของกลางและทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ กว่า 83 ล้านบาท

พฤติการณ์ สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณเดือน มิ.ย.66 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ตรวจสอบพบเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม โดยมีการเลียนแบบเว็บไซต์ แอบอ้างชื่อและใช้ตราสัญญาลักษณ์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รวมทั้งหน่วยงานภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อีกทั้งยังพบว่า กลุ่มมิจฉาชีพได้ใช้วิธียิงแอดโฆษณาผ่านเว็บไซต์สืบค้นข้อมูล (Google Ads) ซึ่งเมื่อมีประชาชนค้นหาคำว่า “แจ้งความออนไลน์” เว็บไซต์ปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นจะแสดงขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ

เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ ทำการเพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ที่มีการระบุไว้ในภายเว็บไซต์ เพื่อให้ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่จะแจ้งความ กลุ่มคนร้ายจะสวมรอยเป็นแอดมิน พูดคุยสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะทำทีให้ผู้เสียหายติดต่อพูดคุยกับบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นทนายความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยจะให้คำปรึกษา ชี้แนะ พร้อมทั้งให้ผู้เสียหายส่งหลักฐานเรื่องที่ต้องการแจ้งความไปให้

จากนั้นคนร้ายที่อ้างเป็นทนายความจะส่งเรื่องต่อไปยังฝ่าย IT (information technology) โดยฝ่าย IT จะอ้างตนต่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และแจ้งกับผู้เสียหายว่าเงินที่ผู้เสียหายถูกโกงหรือถูกหลอกไป ได้ถูกนำไปฟอกในเว็บการพนันนออนไลน์ต่างประเทศ มิหนำซ้ำยังมีการทำแผนผังเส้นทางการเงินส่งให้ผู้เสียหาย พร้อมแจ้งว่า สามารถนำเงินดังกล่าวมาคืนกับผู้เสียหายได้ โดยใช้วิธีการแฮก (Hack) เว็บการพนันดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ คนร้ายจะให้ผู้เสียหายทำการสมัครสมาชิกและโอนเงินไปที่เว็บพนันดังกล่าว จากนั้นคนร้ายจะให้ผู้เสียหายเล่นการพนันตามที่คนร้ายบอก อ้างว่าเพื่อจะได้ทำการแฮกระบบ เอาเงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย

หลังจากคนร้ายอ้างว่าได้ทำการแฮกระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะปรากฎยอดเงินในบัญชีเว็บไซต์การพนันของผู้เสียหายเพิ่มขึ้น โดยคนร้ายจะแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปเพิ่ม เพื่อที่จะได้แฮกเงินคืนให้ได้มากกว่าเดิม แต่ท้ายที่สุดเมื่อผู้เสียหายจะถอนเงินออกมา ก็ไม่สามารถถอนได้ จากนั้นคนร้ายจะบล็อกช่องทางการติดต่อของผู้เสียหายทันที โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย.66 จนถึงปัจจุบัน บัญชีม้าและกระเป๋าเงินดิจิทัลต่างๆ ในกลุ่มของคนร้ายมียอดเงินหมุนเวียนมากกว่า 7,000 ล้านบาท