“เศรษฐา”รุดขอมาเลเซียเจรจาฮามาสปล่อยคนไทย

“เศรษฐา”รุดขอมาเลเซียเจรจาฮามาสปล่อยคนไทย





ad1

"เศรษฐา"นายกรัฐมนตรี เผย ประสานทางการมาเลเซีย ช่วยเหลือคนไทยจากเหตุความรุนแรงในอิสราเอล ชงแนวคิดปรับพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยและภาคเหนือมาเลเซีย เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ

เมื่อเวลา 18.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) วันที่ 11 ต.ค. 2566 ที่ประเทศมาเลเซีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์และตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเดินทางมาเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสาระสำคัญ ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรี เล่าถึงการเข้าเฝ้าฯ สุลต่าน อับดุลละฮ์ เรียยาตุดดิน อัล-มุซตาฟา บิลละฮ์ ชะฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม สุลต่าน ฮาจี อะฮ์มัด ชะฮ์ อัล-มุซตาอิน บิลละฮ์ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย พระองค์ที่ 16 ในวันนี้เวลา 14.00 น. (เวลาท้องถิ่นมาเลเซียเร็วกว่าไทย 1 ชม.)

สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียโดยได้ทรงฝากความระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีโดยเฉพาะในระดับราชวงศ์ ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมฝากถึงประเด็นในการล่าสัตว์ข้ามเข้ามาในเขตชายแดนไทยมาเลเซีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับจะไปกำชับและกำกับเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก 

นอกจากนี้สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียยังทรงมีความสนพระทัยในเรื่องฟุตบอลเป็นพิเศษ โดยในปี ค.ศ. 2034 จะมีการแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังจะเสนอตัว

ต่อจากนั้น ได้กล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เกิดประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นการท่องเที่ยว ไทยมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากมาเลเซียจำนวนมาก โดยผู้นำทั้งสองเห็นตรงกันว่าหากไทยและมาเลเซียมีความร่วมมือกันจะเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่าย และมีพัฒนาการท่องเที่ยวดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาในด้านการท่องเที่ยวร่วมกันด้วย

นอกจากนี้ยังได้หารือเกี่ยวกับประเด็นด้านการค้าชายแดน ซึ่งผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะให้ปรับปรุงและอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของทั้งสองฝ่าย เช่น การสร้างสะพานสุไหงโกลกแห่งที่สอง ซึ่งเชื่อว่าจะเสร็จสิ้นโดยเร็วนี้ พร้อมจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเดินทางมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งในประเด็นนี้ทั้งสองฝ่ายก็จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเช่นกัน

โดย นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดปรับพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยและภาคเหนือของมาเลเซีย เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โดยแนวคิดนี้ไม่เจาะจงเฉพาะพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนหลายๆ พื้นที่ให้เป็นสนามการค้า โดยเป็นการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน เช่น สะพานสุไหงโกลก 2 และการก่อสร้างขยายด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาการค้าชายแดน รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ให้เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งสร้างงาน โดยทางการมาเลเซีย ยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องมีการประสานงานในเชิงลึกทุกภาคส่วน

ประเด็นที่สาม ที่ได้มีการหารือกันคือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทางมาเลเซียมีความชำนาญในการออก Certification อาหารฮาลาล โดยทั้งสองฝ่ายพูดคุยหาความร่วมมือระหว่างมาเลเซียกับเอกชนไทย ตั้งโรงงานผลิตอาหารในไทยและให้มาเลเซียออก Certification ให้ รวมถึงประเด็น Food Tech ที่เชิญชวนให้เข้ามาร่วมมือกัน

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการเดินทางมาครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย โดยการทำงานมีเป้าหมายชัดเจน มีแผนงานที่ชัดเจน และมีการตั้งคณะทำงานให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในส่วนของการช่วยเหลือคนไทยจากเหตุความรุนแรงในตะวันออกกลางนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า จากการหารือกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นพูดคุยเนื่องจากมีความเป็นห่วงคนไทยในพื้นที่เหตุความรุนแรงในตะวันออกกลาง จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ดี อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องของความมั่นคง และมีความละเอียดอ่อน จึงไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประสานกับประเทศอื่นๆ ให้ช่วยเหลือคนไทย ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย