เมืองพัทยาอนุญาตใช้รถกอล์ฟหรือรถไฟฟ้ารับ-ส่งผู้ป่วยท่าเทียบเรือบาลีฮายช่วงซ่อมแซมสะพาน

เมืองพัทยาอนุญาตใช้รถกอล์ฟหรือรถไฟฟ้ารับ-ส่งผู้ป่วยท่าเทียบเรือบาลีฮายช่วงซ่อมแซมสะพาน





ad1

ชลบุรี-เมืองพัทยา ประชุมถกแก้ไขปัญหาการรับ-ส่งผู้ป่วยท่าเทียบเรือบาลีฮาย ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซมสะพาน อนุญาตให้ใช้รถกอล์ฟหรือรถไฟฟ้าได้เป็นการชั่วคราว ขณะรอทำท่าเทียบเรือสำรอง หน้าอาคารหน่วยกู้ภัยทางทะเลเมืองพัทยา

 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ได้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์กรณี เจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือบาลีฮาย ห้ามรถฉุกเฉิน (รถแอมบูแลนซ์) นำผู้ป่วยเข้าไปในท่าเรือบาลีฮาย เพื่อลงเรือเดินทางกลับบ้านพักที่เกาะล้าน ซึ่งได้แจ้งกับทางญาติผู้ป่วยแล้วว่า สะพานท่าเรืออยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ห้ามรถยนต์ทุกชนิดเข้าในท่าเรือ เกรงว่าจะเกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุกรณี สะพานชำรุดเพิ่มขึ้นซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือ ได้ช่วยเข็นเตียงลงไปที่โป๊ะเรือ โดยมีการถ่ายภาพการเข็นเตียงผู้ป่วยไปลงเรือที่โป๊ะ กรณีภาพข่าวดังกล่าวทำให้ผู้ไม่เข้าใจตำหนิ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ในเรื่องการนำส่งผู้ป่วยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 นายวุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ รองนายกเมืองพัทยา เป็นประธานการแก้ไขปัญหาการรับ-ส่งผู้ป่วยบริเวณท่าเทียบเรือบาลีฮาย ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซมสะพานท่าเรือ ที่ห้องประชุมทัพพระยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยมี ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางการแก้ไข เนื่องด้วยเหตุการณ์รับ-ส่งผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ จากเกาะล้านไปยังสถานพยาบาลบนฝั่งพัทยา เกิดขึ้นอยู่เสมอและไม่มีกำหนดที่ชัดเจน ที่ผ่านมาสะพานท่าเรือไม่อนุญาตให้ยานพาหนะอื่นเข้า ยกเว้นเหตุฉุกเฉินและรถพยาบาลฉุกเฉิน นำผู้ป่วยรับ-ส่งในท่าเรือได้ เท่านั้น

แต่ขณะนี้ สะพานชำรุดและอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง โดยสำนักช่างที่ดำเนินโครงการช่อมบำรุง ได้จัดทำป้ายห้ามยานพาหนะเข้าไปในท่าเรือ เกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อสะพานที่กำลังซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นและเป็นอุบัติเหตุไม่คาดฝัน ในที่ประชุมจึงแจ้งไม่ให้นำรถรถฉุกเฉิน (รถแอมบูแลนซ์) เข้าท่าเรือบาลีฮายโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้ใช้รถกอล์ฟ หรือรถไฟฟ้า นำมาปรับแต่งไว้สแตนบายได้

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือ รับ-ส่งผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในโอกาสต่อไป ในที่ประชุมมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงได้พิจารณาแนวทางแก้ไขและการประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการช่วยเหลือรับ ส่งผู้ป่วยผู้บาดเจ็บ ที่ต้องเตินทางจากเกาะล้านมาที่ฝั่ง โดยเสนอให้มีการขึ้นลงที่ท่าเทียบเรือสำรอง บริเวณหน้าอาคารหน่วยกู้ภัยทางทะเลเมืองพัทยา โดยสำนักช่างจะได้เร่งดำเนินการปรับท่าเทียบเรือและติดตั้งโป๊ะเรืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในเร็วๆ นี้

โดย...นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี