กฟผ. หนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน ศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไผ่ซางหม่น สร้างป่าไผ่ ลดโลกร้อน

กฟผ. หนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน ศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไผ่ซางหม่น  สร้างป่าไผ่ ลดโลกร้อน





ad1

กฟผ.  เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม หนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน เป็นศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไผ่ซางหม่น  สร้างป่าไผ่ ลดโลกร้อน

เมื่อวันที่ 23  มิ.ย.66 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ร่วมกับ จังหวัดน่าน และ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56  จัดกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม  โดยมี นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน   เป็นประธานการเปิดกิจกรรมปลูกป่า  ซึ่งมีนายวัชร์วีร์  พืชพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ  และ นางสาวเกษณภา มหารัตนวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม  เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยภาคส่วนที่ร่วมขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของจังหวัดน่าน อาทิ  พระครูสุจิณนันทกิจ เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน    นายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน   ภาคส่วนราชการในพื้นที่อำเภอเวียงสา    และนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าไผ่ซางหม่น ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา จ.น่าน

นายวัชร์วีร์  พืชพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ  กฟผ. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการปลูกป่าแบบมีส่วนร่วมในครั้งนี้  สืบเนื่องจากที่ กฟผ.ได้ให้การสนับสนุนการจัดสร้างโรงเรือนเพาะชำพร้อมระบบน้ำ  และได้สนับสนุนกล้าไผ่ซางหม่น จำนวน 500 กล้า  ให้กับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน  โดยคาดหวังให้เป็นศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไผ่ซางหม่นอีกแห่งในจังหวัดน่าน รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนได้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในสถานศึกษา  ช่วยลดมลภาวะอากาศเป็นพิษจากปัญหาฝุ่นควัน และลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

โดย กฟผ. มีนโยบาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2050 หรือ ปี พ.ศ.2593  มุ่งสู่พลังงานสะอาด และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างความยั่งยืน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน  สอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ รวมถึงการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งถือว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดในบรรยากาศ   โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมมีเป้าหมาย 1 ล้านไร่  รวมงานดูแลบำรุงรักษาระหว่างปี 2565 - 2574  รวมระยะเวลา 10 ปี โดยวางหลักการปลูกป่าร่วมกับพันธมิตร  ปลูกป่าดูดซับคาร์บอนสูง ปลูกป่าในใจ และปลูกป่าเป็นยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่  ดำเนินงานทั้งในป่าอนุรักษ์  ป่าชุมชน  ป่าเศรษฐกิจ  และป่าชายเลน ซึ่งจะสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการปลูกป่าเพื่อดูดซับ และกักเก็บคาร์บอน มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี  และคาดว่าจะสามารถก่อให้เกิดการดูดซับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ทั้งสิ้นประมาณ 23.6 ล้านตัน ตลอดระยะเวลาโครงการ

ทางด้านนายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  กล่าววว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม  ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมและพัฒนาจังหวัดน่าน ด้านสิ่งแวดล้อมหรือ Smart Environment และเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ จากภาวะก๊าซเรือนกระจก สร้างประโยชน์จากการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นภารกิจที่ได้รับความร่วมมือของทุกฝ่าย มาช่วยกันส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ  ตลอดจนเป็นการช่วยส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน ซึ่งสามารถนำไปใช้ดำเนินการต่อยอดและขยายผลในพื้นที่อื่นๆได้อย่างกว้างขวาง  เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งคุณภาพชีวิต คุณภาพอากาศที่ดี  รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายต่อไป.