หน่วยงานรัฐเร่งผลักดัน“โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ จชต.”รักษาและฟื้นฟูปชช.ได้รับผลกระทบจากไฟใต้

หน่วยงานรัฐเร่งผลักดัน“โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ จชต.”รักษาและฟื้นฟูปชช.ได้รับผลกระทบจากไฟใต้





ad1

ของขวัญประชาชนชายแดนใต้ กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และ ศอ.บต. ผนึกกำลังดันการจัดตั้ง “โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ จชต.” มุ่งหวังแก้ปัญหารองรับสถานการณ์การรักษาและฟื้นฟูผู้มีปัญหาสภาวะทางจิตในพื้นที่ จชต.

วันนี้ ( 23 มี.ค. 66) นายชนธัญ  แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าร่วมประชุมร่วมกับแพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยผู้บริหาร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตทุกท่าน นายแพทย์มานัส  โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. กระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น ได้แก่ นายแพทย์กิ๊ฟลัน  ดอเลาะ จิตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และนายฟุรกอน  อาแวกาจิ นักจิตวิทยาโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาณ ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 1 กรมสุขภาพจิตถนนติวานนท์ อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี เพื่อหารือและพิจารณาข้อเสนอการจัดตั้ง “โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ตามที่มีการเสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับสถานการณ์การรักษาและฟื้นฟูผู้มีปัญหาสภาวะทางจิตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสถานการณ์ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยปรากฏโรคทางจิตเวชที่สำคัญที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสุขภาพจิต ได้แก่ โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล, โรค PTSD, โรคจิตเภท และโรคทางจิตที่เกิดเนื่องจากการใช้ยาเสพติด เป็นต้น และได้ส่งผลต่อตัวผู้ป่วยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกายให้คนใกล้ชิดให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้ง ปัญหาที่เกิดต่อครอบครัวของผู้ป่วยได้รับผลกระทบในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการระหว่างการส่งต่อและรักษาตัว การใช้เวลานานในการดำเนินการกว่าจะถึงปลายทาง ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะถูกส่งตัวไปรักษาอาการทางจิตเวช ณ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลา นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญต่อการวางแผนป้องกันการเกิดสภาวะทางจิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสถานการณ์แวดล้อมในทุกมิติ

 โดยจากข้อมูลที่พบปัจจัยที่มีผลลต่อปัญหาสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ไดแก่ เพศ เขตพื้นที่ และการเป็นญาติของผู้บาดเจ็บอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ได้แก่ การเสียชีวิตของญาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดหน่วยบริการที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป เป็นการช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในช่วงการส่งต่อและรักษาตัวและให้เป็นหน่วยบริการที่สำคัญในการร่วมการแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากหลากหลายปัญหาที่มีความซับซ้อนกันจนไปสู่การเป็นโรคทางจิตเวช

เบื้องต้น ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นให้มีการเพิ่มเตียงในพื้นที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ประจำจังหวัด ระยะกลางจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อแยกเป็นหน่วยเฉพาะนำร่องโรงพยาบาลจิตเวชในระยะเบื้องต้น และระยะยาวจะมีการสร้างโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ จะต้องจัดทำแผนรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ จัดทำข้อมูลครอบคลุมทั้งงบประมาณ บุคลากร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์และเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนก่อนจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พิจารณาตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ) ในเรื่องดังกล่าวต่อไป