กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสริมทักษะอาชีพชายแดนใต้

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสริมทักษะอาชีพชายแดนใต้





ad1

นราธิวาส-รมต.แรงงาน มอบกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสริมทักษะอาชีพชายแดนใต้ พร้อมมอบเครื่องมือประกอบอาชีพ 

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564  นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบชุดเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ประจำปี 2564 จำนวน 280 คน ใน 7 สาขาอาชีพ ประกอบด้วยสาขาการตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างไม้เครื่องเรือน  ช่างปูกระเบื้อง ช่างประกอบโครงอะลูมิเนียม ช่างเชื่อมไฟฟ้า และผู้ประกอบอาหารไทย เพื่อนำไปเป็นอุปกรณ์เครื่องมือใช้สำหรับเริ่มต้นการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ณ ห้องประชุมบางนรา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส 

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการแก้ไข โดยน้อมนำยุทธศาสตร์ พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยจัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 

เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีรายได้ มีอาชีพ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ สร้างความสงบสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยการฝึกอาชีพเสริม ใน 7 สาขาอาชีพดังกล่าว ระยะเวลาฝึก 60 ชั่วโมง (10 วัน) ผู้ผ่านการฝึกอบรมแต่ละคน จะได้รับชุดเครื่องมือประกอบอาชีพ มูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว นอกจากนี้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ยังได้ต่อยอดโดยฝึกยกระดับฝีมือให้เพิ่มเติมในโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสร้างอาชีพชุมชนเข้มแข็งวิถีใหม่ 

ภายใต้โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งสถาบันฯ ได้รับอนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อสร้างช่างที่มีทักษะฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ  ซึ่งถือเป็น “แรงงานเศรษฐกิจคุณภาพ” รองรับทั้งการจ้างงานภายในจังหวัดชายแดนใต้ และการกลับไปทำงานในประเทศมาเลเซียในทันทีที่มีการเปิดประเทศในอนาคตอันใกล้ อันจะส่งผลดีในภาพรวมต่อการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้