'พัทลุง'เมืองรองเร่งผลักดันผุดสนามบินปลุกศก.-ท่องเที่ยว-ลงทุน เติบโตแข็งแกร่ง

'พัทลุง'เมืองรองเร่งผลักดันผุดสนามบินปลุกศก.-ท่องเที่ยว-ลงทุน เติบโตแข็งแกร่ง





ad1

พัทลุง-ผู้ว่าฯพัทลุงเดินหน้าการก่อสร้างสนามบินพัทลุง เสนอ ถนนสายพัทลุง-หาดใหญ่ 6 ช่องทางจราจร โลจิสติก ไปท่าเรือ จ.ตรัง ท่าเรือ จ.สงขลา และ  จ.สตูล พร้อมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวและการลงทุนคึกคักแน่นอน

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง เปิดเผยว่า หลังได้ประชุมทุกฝ่ายมีมติกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาด้านการจราจร และขนส่งของจังหวัดพัทลุง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยนายจิรโรจน์ สุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอทิศทางการพัฒนาโครงข่ายด้านการคมนาคมในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงตอนบ้านห้วยทราย-บ้านพรุพ้อ ระยะทาง 15 กิโลเมตร, ถนนพัทลุง-ไม้เสียบ ระยะทาง 32 กิโลเมตร การก่อสร้างสะพานทางรถไฟจุดตัด สายบ้านห้วยทราย-บ้านปากพะยูน  

ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะก่อสร้างสะพานจุดตัดในปีงบประมาณ 2566  บริเวณแยกทางหลวงหมายเลข 41 - ทะเลน้อย, ทางแยกต่างระดับที่จุดตัดทางหลวง 41 กับ ทล.4164 กับ ท.4187 (แยกโพธิ์ทอง), การก่อสร้างสะพานจุดตัดแยกทางหลวงท่านางพรหม -จงเก ทางแยกต่างระดับที่จุดตัดสี่แยกวังปีบ ทางแยกโคกทราย-ต่อเขตทางเทศบาลตำบลปากพะยูน

ในส่วนของความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ระหว่าง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง กับ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ที่จะดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 ค่าก่อสร้าง 4,841,000,000 บาทนั้น กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการขออนุมัติเงินกู้จาก world bank 70% เงินงบประมาณประจำปี 30%  

ด้าน พ.จ.อ.เมืองชล วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ว่าจากการศึกษากรณีวิเคราะห์สถานการณ์สูง (High Case) พบว่าในปี 2569 ช่วงแรกจะมีจำนวนผู้โดยสาร 263,256 คน / ปี และมีเที่ยวบิน 5 เที่ยวบินต่อวัน หรือ 35 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สถานที่ตั้งที่เหมาะสมอยู่บริเวณ ต.ควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง ใช้พื้นที่ 1.496 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ค่าชดเชยอสังหาริมทรัทย์ 139.059 ล้านบาท 

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ระยะเวลา คือ ระยะ 10 ปี, 20 ปี และ 30 ปี มีวงเงินก่อสร้างในระยะที่ 1 รวม 2,143.71 ล้านบาท โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างระยะที่ 1 ระยะ 10 ปี ประกอบด้วย ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน ถนนตรวจการและถนนกายใน ระบบไฟฟ้า สถานีอุตุนิยมวิทยา อาคารระบบนำร่อง อาคารหอบังคับการบิน ลานจอดรถยนต์ เป็นต้น

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ได้เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้ขยายช่องการจราจรจาก จ.พัทลุง - อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จาก 4 ช่องทาง เป็น 6 ช่องทาง เพื่อรองรับการขนส่งโลจิสติกส์ในอนาคต ซึ่งทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง จ.พัทลุง เป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกสงขลา ท่าเรือจังหวัดตรัง และ จ. สตูล รวมทั้งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้.