ไพบูลย์ ยืนยันพลังประชารัฐไม่แก้ รธน. กลับไปเป็นบัตรใบเดียว ยืนยันคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ต้องหารด้วย 100 เท่านั้น

ไพบูลย์ ยืนยันพลังประชารัฐไม่แก้ รธน. กลับไปเป็นบัตรใบเดียว

ไพบูลย์ ยืนยันพลังประชารัฐไม่แก้ รธน. กลับไปเป็นบัตรใบเดียว ยืนยันคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ต้องหารด้วย 100 เท่านั้น





ad1


วันนี้ (2 สิงหาคม) ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงถึงกรณีมีกระแสข่าวที่พรรคพลังประชารัฐจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นบัตรเลือกตั้งให้กลับไปเป็นบัตรใบเดียวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ มีความเห็นร่วมกันยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ใช้บัตรใบเดียว เพราะจุดยืนนโยบายของพรรคพลังประชารัฐชัดเจน ต้องการให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว  
.
ส่วนที่มีกระแสข่าวดังกล่าวออกมาถี่มากขึ้นนั้น ไพบูลย์กล่าวว่า เป็นปกติ เพราะใกล้ที่จะเลือกตั้ง อาจมีบางฝ่ายอยากจะได้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว และดำเนินการมาตลอด แต่เรื่องบัตรใบเดียวเป็นของการเลือกตั้งปี 2562 ทำให้พรรคพลังประชารัฐตกอยู่ในกระแสข่าวนี้ด้วย
.
ไพบูลย์ยังกล่าวยืนยันว่า ตนไม่สามารถเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. .… ในประเด็นการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 ที่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 2 เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในกระบวนการต่อไป ตนในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเราแก้รัฐธรรมนูญมาแล้ว และมีการบิดเบือนเจตนารมณ์ เราก็ต้องทำความเห็น ตนเห็นชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก็เพื่อให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แล้วหารด้วย 100 ในการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่านั้น แต่นี่ขัดมาตรา 91 ชัดเจนอย่างสิ้นเชิง มาบิดเบือนบัตร 2 ใบ แล้วจะให้หารด้วย 500
.
ไพบูลย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับขั้นตอนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อให้ครบ 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือประมาณ 70 กว่าคน ก็จะยื่นต่อศาลได้ ส่วนจะยื่นช่วงไหนนั้นต้องรอให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตในวาระ 2-3 แล้วเสร็จ จากนั้นจึงส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาออกความเห็น เมื่อเสร็จสิ้น ในขั้นต่อไปประธานรัฐสภานำเสนอให้นายกรัฐมนตรี เราก็จะยื่นในช่วงนี้ ถือว่ายังมีอีกหลายขั้นตอน ต้องติดตามกันต่อไป 
.
อย่างไรก็ตาม ไพบูลย์กล่าวว่า ประเด็นที่ตนจะยื่นเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะชี้ให้เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร รวมถึงตัวบทบัญญัติที่เขียนให้สัมพันธ์โดยตรง นอกจากนี้ยังขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 93 และ 94 ที่เขียนไว้ว่าไม่มีผลอะไรที่จะไปเปลี่ยนมาตรา 91 ได้ เพราะมาตรา 91 ที่แก้ไขนั้นเป็นที่มาของการแก้ไขการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ถ้าไม่ใช้สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 คน มันขัดเจตนารมณ์ ถือเป็นการขัดประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และบิดเบือนเจตจำนงประชาชนที่ออกเสียงผ่านบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 อีกด้วย เพราะตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 และ 2554 ก็ต้องใช้จำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ มาหารเท่านั้น ไม่ใช่ไปนำ ส.ส. เขตมาหาร สิ่งเหล่านี้จึงต้องไปพิสูจน์กันที่ศาล