"ศุภมาส" จัดทัพกระทรวง อว. ระดมทุกหน่วยงานลุยช่วยน้ำท่วมปี 2568

"ศุภมาส" จัดทัพกระทรวง อว. ระดมทุกหน่วยงานลุยช่วยน้ำท่วมปี 2568





Image
ad1

อว.ตอบโจทย์วาระแห่งชาติ “รับมือน้ำ” ตามนโยบายรัฐบาล พัฒนาระบบ AI ครบวงจร ทั้งแอปเตือนภัยล่วงหน้า 48 ชั่วโมงในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษระดับตำบล ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ในแม่น้ำสายชายแดนไทย–เมียนมา จัดเต็มเทคโนโลยีเฝ้าระวัง-ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์-ฟื้นฟูหลังน้ำลด

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าว "อว. ขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรมสู้ภัยน้ำ" ณ กระทรวง อว. โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วม ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว.

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 5 และมีความเสี่ยงเกิดพายุหมุนเขตร้อน 1–2 ลูก ส่งผลให้บางพื้นที่อาจประสบภาวะน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลจึงได้ยกระดับการบริหารจัดการน้ำให้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นฟูระบบนิเวศ ไปจนถึงการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการคาดการณ์และเตือนภัย โดยในส่วนของกระทรวง อว. ได้ระดมทุกหน่วยงานในสังกัดซึ่งมีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติในฤดูฝนปีนี้ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เชิงพื้นที่ บูรณาการเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

รวมถึงการพัฒนานโยบายและมาตรการ โดยให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง อว. เข้าไปมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลไกกองทุน ววน. ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย หรือ PMU โดยมี 5 หน่วยงานที่อยู่ในกระทรวง อว. ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) หน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน (บพค.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยธรรมชาติอย่างครบวงจร

รมว.อว. กล่าวต่อว่า หนึ่งในโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินการแล้วคือ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. เพื่อประชาชน โดยมีคณะทำงาน 3 ชุด รับผิดชอบครอบคลุมทุกระยะของภัย ได้แก่ การเฝ้าระวัง การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูหลังน้ำลด นอกจากนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติในแม่น้ำสาย บริเวณชายแดนไทย–เมียนมา ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงด่านแม่สาย จ.เชียงราย เพื่อรายงานระดับน้ำแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน “ThaiWater” ซึ่งจะช่วยเตือนภัยล่วงหน้าได้ถึง 3–4 ชั่วโมงก่อนที่มวลน้ำจะมาถึง ขณะเดียวกัน ในแอปพลิเคชั่น “ThaiWater” กระทรวง อว. ยังพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ในชื่อ “พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ” ที่สามารถแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากล่วงหน้า 48 ชั่วโมงในระดับตำบล ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้ในการเตรียมการรับมือ

น.ส.ศุภมาส ยังกล่าวอีกว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจในระดับพื้นที่ กระทรวง อว. ยังร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด โดยมีเป้าหมายขยายให้ครบ 76 จังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด และเสริมศักยภาพท้องถิ่นในการวางแผนและรับมือภาวะวิกฤติ พร้อมรับข้อสั่งการจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ให้ สสน. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝน

โดยเน้นการสื่อสารกับประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีผ่าน 3 แอปพลิเคชันเตือนภัยพิบัติ ได้แก่ 1.THAI DISASTER ALERT ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2.ThaiWater ของ สสน. และ 3.เช็คน้ำ ของ GISTDA พร้อมกันนี้ ยังมีการบูรณาการกับเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การใช้โดรนเพื่อส่งอาหาร เวชภัณฑ์ และสำรวจพื้นที่ ในช่วงเกิดภัย, การพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์และแจ้งเตือนภัยดินถล่มด้วย IoT และ AI ซึ่งจะพร้อมใช้งานในเดือนกรกฎาคม รวมถึง ผลิตภัณฑ์ยับยั้งเชื้อโรคหลังน้ำลด ที่พัฒนาโดย สวทช. เพื่อใช้ฟื้นฟูบ้านเรือนและสถานที่สาธารณะ

“เราไม่รอให้เกิดวิกฤตแล้วค่อยลงมือ แต่เราเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ใครต้องเผชิญภัยเพียงลำพัง นี่คือพลังของงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม และเกิดขึ้นจริงเพื่อประชาชน เรามีเป้าหมายร่วมกันในการลดความสูญเสีย ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในระยะยาว เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจเดินหน้า และประเทศมีศักยภาพในการรับมือภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างมั่นคง” น.ส.ศุภมาส กล่าวทิ้งท้าย

ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมเพื่อรับมือภัยน้ำ อย่างรอบด้าน ได้แก่ 
- ระบบเตือนภัยและแนวทางป้องกันน้ำท่วม ในเขตเมือง จังหวัดเชียงราย 
- นวัตกรรมกระบวนการชุมชนในการวางแผนรับมือวิกฤตอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
- โดรนลำเลียงสัมภาระเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติและโดรนสำรวจเพื่อสนับสนุนเมื่อเกิดภัยพิบัติ
- คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและแอปพลิเคชัน “ThaiWater” นวัตกรรม สารสนเทศน้ำเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรและรับมือภัยพิบัติ

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 
- นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วช.)
- รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงาน (Program Director) แผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง ใน 10 จังหวัด 
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังกูร ว่องตระกูล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ คณารีย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 
- นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ 
- ดร.ศรเทพ วรรณรัตน์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)

วช. ภายใต้กระทรวง อว. พร้อมมุ่งมั่นส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ พร้อมต่อยอดองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอุทกภัยขับเคลื่อนวิจัยนวัตกรรมสู้ภัยน้ำอย่างยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม