ชาวไร่อุดรฯสุดช้ำปิดโรงงานน้ำตาลกระทบ "อ้อย" ตกค้าง 2 พันคัน


ชาวไร่ที่อุดรธานี สุดชอกช้ำ หลังประกาศปิด "โรงงานน้ำตาล" ทำอ้อยตกค้างทะลุ 2,000 คัน ขู่ลงถนน ขอรัฐบาลช่วยเหลือ-แก้ปัญหา
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงไฟฟ้าไทยอุดรธานีเพาเวอร์ ยังคงปิดไม่มีการเดินเครื่องจักร ตามคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในกรณีนำอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลเกิน 25% ตามประกาศของกรมโรงงานฯ ทำให้รับอ้อยไฟไหม้สะสมสูงสุด และประเด็นโรงไฟฟ้าประกอบกิจการอาจจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้อง มาตั้งแต่เย็นวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา
ขณะที่ยังมีรถบรรทุกอ้อย ทยอยวิ่งเข้ามารอส่งเข้าโรงงานเพิ่ม จากที่ตกค้างอยู่เมื่อวานนี้ราว 1,200 คัน ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2,000 คัน ทำให้ลานจอดรถ 2 และ 3 มีรถบรรทุกเข้ามาจอดเต็มพื้นที่ ยาวไปจนถึงริมถนนนอกโรงงาน และในหมู่บ้าน ซึ่งทางสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ ได้นำเต็นท์มากางหน้าลานเพิ่มเติม จัดพนักงานลูกจ้างของสมาคมฯ มาคอยให้ข้อมูลตลอดจนตอบคำถามให้ชาวไร่อ้อย

นายอานนท์ มโยธี อายุ 30 ปี ชาวไร่อ้อย อ.บ้านผือ เผยว่า ทำไร่อ้อยเกือบ 1 พันไร่ รวมทั้งของลูกไร่ด้วย รถขนอ้อยติดอยู่ที่โรงงาน 4-5 วันแล้ว มูลค่าอ้อยประมาณ 5-6 แสนบาท อยากวอนรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้อะลุ่มอล่วยให้ชาวไร่ด้วย ขอให้เอาอ้อยไฟไหม้ที่ตกค้างมาหีบก่อน หลังจากนั้นชาวไร่ หรือลูกไร่ของเรา ก็จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ความอัดอั้นของชาวไร่ก็เป็นอย่างที่เห็น เพราะอ้อยติดอยู่ที่นี่จำนวนมาก เกิดความเสียหายหลายล้านบาท ไม่ใช่แค่ตนที่เดือดร้อน พี่น้องชาวไร่ที่นี่เดือดร้อนกันทั้งหมด หากอ้อยเน่าเสียหาย ก็ต้องรอท่าทีของสมาคมฯ ว่าจะจัดการต่อไปอย่างไร ขอสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อที่จะได้ลงอ้อย

นายนิพัฒน์ ลัทธิพงษ์ อายุ 49 ปี ชาวไร่อ้อย อ.บ้านผือ เผยว่า ทำไร่อ้อยประมาณ 100 ไร่ ไม่ว่าจะเป็นอ้อยสด หรืออ้อยไฟไหม้ ตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนหมด แต่ที่เดือดร้อนที่สุดคือ อ้อยไฟไหม้ เพราะอ้อยสดยังมีแนวโน้มที่จะได้ลงอ้อย แต่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้เทอ้อยไฟไหม้เลย หากเกิน 5 วันแล้ว จะเป็นอ้อยเสีย น้ำหนักก็จะลดลง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาอ้อยไปไว้ที่ไหน ที่เขาบอกว่าการเผาอ้อยส่งผลต่อฝุ่น PM 2.5 ชาวไร่ก็จะต้องทำตามนโยบาย จะกลับมาตัดอ้อยสด แต่ก็ขอเวลาหน่อย เพราะยังมีอ้อยไฟไหม้ตกค้างอยู่เยอะ หากจะเก็บให้หมดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 วัน ถ้าหยุดชะงักแบบนี้ มันไม่มีทางทำได้
หากต้องตัดอ้อยสด เราก็ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็พร้อมทำตาม ซึ่งอยากให้รัฐบาลมาช่วยเหลือตรงนี้ด้วย ต้นทุนอ้อยไฟไหม้ 1 กอง ประมาณ 3-4 บาท หากเป็นอ้อยสดจะประมาณ 10-15 บาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว หากไม่เข้ามาช่วย ชาวไร่แทบจะอยู่ไม่ได้ หลังมีคำสั่งปิดโรงงาน บอกได้คำเดียวว่ามืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะเอาอ้อยไปไหน ทำได้อย่างเดียวคือรอ และอ้อนวอนผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ให้มาช่วยเหลือชาวไร่ ขอให้ได้เทอ้อย แล้วจะได้กลับไปเก็บอ้อยที่เหลืออีกในไร่ ต่อไปก็เป็นอ้อยสด นี่คือสิ่งที่ชาวไร่คุยกันไว้ ขอให้เห็นใจพวกเราด้วย
ขณะที่ นายวรพจน์ บุรุษภักดี อายุ 68 ปี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ เผยว่า หลังมีคำสั่งปิดโรงงาน พวกเราชาวไร่อ้อยเดือดร้อนอย่างมาก จากปริมาณรถอ้อยที่ตกค้างจากเมื่อวาน 1,300 คัน ตอนนี้เพิ่มเป็น 2,000 คันแล้ว หากไม่ได้ลงอ้อยภายใน 1-2 วันนี้ อ้อยก็จะบูดและเน่า น้ำหนักจะลด ค่าความหวานจะน้อยลง ค่าอ้อยก็จะลดลงตามลำดับ หรืออาจจะถึงขึ้นเสียหายมาก ทำน้ำตาลไม่ได้ จะได้แต่ซากอ้อยและกากน้ำตาล แต่ที่หนักใจที่สุดคือ หากเน่าเสียแล้วโรงงานไม่รับซื้อ เราจะเอาไปทำอะไร เอาไปทิ้งที่ไหน จะไปขายให้ใคร

ตอนนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ซึ่งบอกได้คำเดียวว่า เหนือกว่าวิกฤติคือมันสุดยอดแล้ว แนวทางการต่อสู้เราคุยกันแล้วว่าอาจจะถึงขั้นปิดถนน เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา ตอนแรกที่ จ.อุดรธานี ได้ประชุมแก้ไขปัญหา ที่จะรับอ้อยไฟไหม้ 40% เราก็ยังชื่นชมท่านผู้ว่าฯ อยู่เลย นโยบาย 25% ก็ยังมีอยู่ แต่มาสั่งปิดไปแบบนี้มันหักดิบกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทางผู้ใหญ่ของเราจะว่ายังไง แต่ในใจชาวไร่นั้นมันสุดๆ แล้ว ส่วนที่บอกว่ามีชาวไร่บางส่วนนำอ้อยไปโรงงานอื่น มองว่าเป็นข่าวยังไม่กรอง ตอนนี้เรายังไม่มีรายงานเข้ามา
นายวรพจน์ เผยอีกว่า ส่วนรถขนอ้อยที่เพิ่มจำนวนขึ้นนั้น เป็นไปตามข้อตกลงของจังหวัด ที่ระบุว่ารถที่ลงอ้อยไฟไหม้ไปแล้วให้นำอ้อยสดกลับเข้ามา ส่วนนี้ก็เป็นอ้อยค้างไร่ เอามาด้วยความหวังน้อยๆ เพื่อมาเติมในส่วน 25% แต่ก็มาถูกหักดิบแบบนี้ ทั้งอ้อยสดอ้อยไฟไหม้ ก็มากองอยู่อย่างที่เห็น เรายอมรับนโยบาย เราไม่ได้อยากสร้างความเดือดร้อน แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วก็คงต้องลงถนน อยากให้มองเห็นหัวอกชาวไร่บ้าง อ้อยไม่ได้ทำง่ายๆ มีคนทำร้อยพ่อพันแม่ มีทั้งคนเข้าใจและไม่เข้าใจนโยบาย อ้อนวอนขอให้ผ่านปีนี้ไปก่อน ปีหน้าก็ว่ากันใหม่ เราพร้อมทำตาม ตัวเลขที่มันมีปัญหาก็จะลดลง เราไม่ใช่คนดื้อ เราไม่ใช่คนรั้น