ลุยสร้างสรรค์ลายผ้าไทยตอบโจทย์การตลาด ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาไทยสู่ความยั่งยืน

ลุยสร้างสรรค์ลายผ้าไทยตอบโจทย์การตลาด ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาไทยสู่ความยั่งยืน





Image
ad1

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงานมอบรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2024) มุ่งส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ้าทอพื้นถิ่นของไทย นักออกแบบลายผ้ารุ่นใหม่ และนิสิตนักศึกษา สร้างสรรค์ลายผ้าไทยเพื่อตอบโจทย์การตลาด และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาไทยสู่ความยั่งยืน


นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานกล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ความสำคัญต่อมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านหัตถกรรม จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล กิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2024) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ้าทอไทยและนักออกแบบลายผ้ารุ่นใหม่ โดยนำแนวคิดจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 4 (Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2023-2024) เป็นหัวข้อในการประกวด เพื่อให้ผู้เข้าประกวดสามารถพัฒนารูปแบบการสร้างสรรค์ลายผ้าไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยสู่ความยั่งยืน  โดยมุ่งหมายให้สามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติได้จริง สร้างรายได้ให้เกิดแก่ชุมชนกลุ่มที่ทอผ้า และผู้ประกอบการด้านผ้าไทย ทั้งยังจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างงานสร้างอาชีพของนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่สนใจต่อไป

รองอธิบดีสวธ. ยังได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลทั้ง ๒๔ ผลงาน ที่ได้มีส่วนนำทุนทางวัฒนธรรม ผ้าไทยมาต่อยอดสู่สากล สร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค จนถึงระดับชาติต่อไป และขอขอบคุณคณะกรรมการโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และวิทยากรทุกคนที่มีส่วนร่วมทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ให้ได้ผ้าไทยในรูปแบบที่ทันสมัย และยังคงเอกลักษณ์ผ้าทอไทยที่งดงาม

ด้าน ดร.ปรารถนา คงสำราญ หัวหน้าโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี ๒๕๖๗ เปิดเผยว่า กิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยฯ ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี ๒๕๖๗ นี้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ โดยในปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้จากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ ๔      (Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2023-2024) ต่อยอดจากองค์ความรู้สู่การปฏิบัติได้จริง ในแนวคิดหลักในปีนี้ ได้แก่ “สุขใสเรืองรอง Luminous Mind” ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและการออกแบบ ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงนักออกแบบที่มีชื่อเสียง ร่วมเป็น วิทยากรเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้  และเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานจากแบบร่าง ทั้ง ๓ ประเภท ได้แก่ ผ้าไหม  ผ้าฝ้าย และสิ่งทอสร้างสรรค์ ที่ส่งเข้าประกวด จำนวน ๘๘ ผลงาน ให้เหลือประเภทละ ๘ ผลงาน รวมทั้งสิ้น ๒๔ ผลงาน โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ประกาศผลการตัดสิน การประกวดการออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลฯ ประจำปี 2567 จำนวน 24 รางวัล เงินรางวัลรวม ๔๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมเกียรติบัตร ประกอบด้วย ๓ ประเภท ดังนี้

          1) ประเภทผ้าไหม รางวัลที่ 1 (ชนะเลิศ) ผลงาน ความรุ่งเรืองแห่งสายน้ำจากแม่โขงสู่เจ้าพระยา โดยนายจักรวรรดิวัตร ปรีจำรัส จังหวัดกาฬสินธุ์

               รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ ผลงาน Dimention Stone นายอรรถพล มีพันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

               รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ผลงาน แวววาว นายธีรภัทร์ เพ็งพินิจ จังหวัดปทุมธานี

               รางวัลชมเชย 5 รางวัล ได้แก่

                    - ความหวังอันดามัน  นายบรรเทา กูลหลัง จังหวัดกระบี่

                     - เส้นทาง  นางสาวนิศาชล พลไชย จังหวัดสกลนคร

                     - Optimistic  นายมัธยม อ่อนจันทร์ กลุ่ม Mathtara จังหวัดขอนแก่น

                     - The rabbit along a rural-to-urban  นางสาวณหทัย เปาอินทร์

                       จังหวัดกรุงเทพมหานคร

                     - เกศแก้วมณีศรีเวียงตาล นางตุ๊ สุภา จังหวัดอุดรธานี       

          2) ประเภทผ้าฝ้าย รางวัลที่ 1 (ชนะเลิศ) ผลงาน WAVE of WIND โดยนายไอยรินทร์ รุ่นหนุ่ม กรุงเทพมหานคร

              รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ ผลงาน วัยเยาว์  นางสาวนิศาชล พลไชย จังหวัดสกลนคร

              รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ผลงาน ประกาย  นายธีรภัทร์ เพ็งพินิจ จังหวัดปทุมธานี

              รางวัลชมเชย 5 รางวัล ได้แก่

                     - Phenomenon of Fluidness "ปรากฏการณ์ไร้ลักษณ์"  นายศักดิ์สิทธิ์ ภัทรประกฤต นนทบุรี

                      - LAST LIGHT (แสงสุดท้าย)  นางสาวซัมมีย๊ะ ฮะกือลิง จังหวัดนราธิวาส

                    - LAST LIGHT  นางสาวกนกพร  ธรรมวงค์ จังหวัดเชียงราย

                      - แสงตะวันอันดามัน  นายสนธยา ชลธี จังหวัดกระบี่

                      - ไทเท่  นายโชติวงศ์ เฉลิมพงศ์พิพัฒน์ จังหวัดปัตตานี

          3) ประเภทสิ่งทอสร้างสรรค์ รางวัลที่ 1 (ชนะเลิศ) ผลงาน The forest of Luminous Mind โดย

นายขวัญโย มาอุ่น และนายเผ่าพันธ์ พงศ์พิพิธธน จังหวัดแพร่    

              รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ ผลงาน ศรีวิไลญา นายอรรถพล มีพันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

             รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ผลงาน SUMMER SOLSTICE นางสาวศศิชา ศรีจันทร์โฉม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

              รางวัลชมเชย 5 รางวัล ได้แก่

                     - ก่อนอาทิตย์อัสดง  นางสาวทักษพรณ์ สุขศิลป์ จังหวัดสมุทรสาคร

                      - ฮอยประทีป  นายปุณยวีร์ จันทอน จังหวัดนครพนม

                      - อายแสงนีออน นายปรเมธ เจริญวาที จังหวัดสงขลา

                      - The Eternal Horizon  นางสาวดาลิตา เกตุศักดิ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

                      - ALPENGLOW นายอาคม พันธ์พลเทพ จังหวัดนครราชสีมา